รีเซต

หรือว่านาโต้จะไม่เอาแต่พูด โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หรือว่านาโต้จะไม่เอาแต่พูด โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2564 ( 16:50 )
76
หรือว่านาโต้จะไม่เอาแต่พูด โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เพียงข้ามวันหลังปิดการประชุม “คอร์นวอลล์ซัมมิต” ของกลุ่ม G7 พร้อมกับความสำเร็จในการเขย่าจีนจนสั่นสะเทือนโลกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำกลุ่มก็เดินทางต่อไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อเตรียมเข้าร่วมประชุมนาโต้ซัมมิต ...

นาโต้ (NATO) หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty Organization) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1949 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ โดยการผลักดันของสหรัฐฯ แคนาดา และประเทศในยุโรปตะวันตก เพื่อร่วมกันรักษาความมั่นคงจากสหภาพโซเวียต ตามสนธิสัญญาฯ ที่ลงนาม ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อราว 1 ปีก่อนหน้านั้น



นาโต้มีบทบาทสูงในช่วงสงครามเย็นระหว่างทศวรรษ 1950 ถึงกลางทศวรรษ 1980 และปรับบทบาทไปสู่มิติด้านการเมืองมากขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น โดยในต้นศตวรรษที่ 21 รัสเซียไม่ได้ถูกมองว่าเป็นศัตรูหลักของนาโต้อีกต่อไป และนาโต้กับรัสเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน 

นาโต้เพิ่มจำนวนสมาชิกโดยลำดับ และได้ขยายประเภทสมาชิกในเวลาต่อมา อาทิ ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่ม (Major Non-NATO Ally) ซึ่งไทยก็เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ด้วย

ตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญาฯ ระบุว่า “การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง จะถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกโดยรวม” และดูเหมือนเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยา 2001 ที่นิวยอร์ก เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวที่นาโต้ดึงเอาหลักการดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ ทำให้ NATO ถูกวิจารณ์ว่าไม่ค่อยมีผลงานที่จับต้องได้มากนัก จนผู้คนขนานนามว่าเป็นองค์กรที่ “No Action, Talk Only” 



นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ นาโต้ก็ถูกประชาคมโลกมองว่าเป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการทหารที่ตกเป็นเบี้ยล่างให้สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรหลักมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ดี วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมาอาจถือเป็นวันดี (D-Day) เมื่อนาโต้จัดการประชุมเต็มคณะของกลุ่มผู้นำนาโต้ 30 ประเทศ ณ สำนักงานใหญ่ ใจกลางกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2019

งานนี้นาโต้ดูจะออกตัวแรง พยายาม “แสดงน้ำยา” ให้โลกได้เห็นแจ้ง โดยภายหลังการประชุมสุดยอดดังกล่าว เยนส์ สทอลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการใหญ่ของนาโต้ ได้หยิบยก “การผงาดของจีน” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการแถลงข่าว

โดยกล่าวหาว่าจีนมี “ความท้าทายอย่างเป็นระบบ” (Systemic Challenges) และสมาชิกหลายประเทศได้หยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ที่เขม็งเกลียวกับจีน

นาโต้ยืนยันว่า “จีนไม่ใช่ศัตรูของเรา แต่ดุลยภาพของอำนาจกำลังเปลี่ยนมือ” โดยในช่วงหลายปีหลังนี้ จีนได้ดำเนินการหลายสิ่งที่ท้าทายอย่างเป็นระบบ และกำลังอาวุธของจีนขยับขึ้นมาทัดเทียมของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมเข้าไปทุกขณะ 

จีน “กำลังขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งครอบคลุมถึงจำนวนหัวจรวดที่มีระบบการยิงที่สลับซับซ้อนยิ่ง” รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือทางการทหารกับรัสเซีย และการใช้ข่าวลวง

นาโต้เห็นว่า ในไม่ช้า จีนจะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ในโลก จะมีงบประมาณด้านการทหารอันดับ 2 ของโลก และกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุด จึงพยายามเรียกร้องให้จีน “สนับสนุนส่งเสริมพันธะสัญญาระหว่างประเทศ และรับผิดชอบต่อระบบระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงมิติในเรื่องอวกาศ ไซเบอร์ และพาณิชย์นาวี” 

นาโต้ยังกล่าวหาว่า กองทัพจีนได้โจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทั้งความลับด้านอุตสาหกรรมและทางการทหารจากทั่วโลก แถมยังบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับนาโต้ และเพิ่มระดับการแข่งขันกับนาโต้ในแอฟริกา เมดิเตอร์เรเนียน หรือแม้กระทั่งอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ)



ทำให้หลายฝ่ายยังเกิดความกังวลใจว่า ความพยายามในการวางเครือข่าย 5G ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป จะเปิดโอกาสให้หัวเหว่ย (Huawei) อาจสามารถควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่นาโต้จำเป็นต้องใช้ 

ในตอนท้าย นายใหญ่นาโต้ยังแสดงจุดยืนว่าพร้อมจะเผชิญหน้าและตอบโต้การเติบใหญ่ในด้านการทหารของจีน เหมือนกับการเตรียมตีธงเพื่อส่งสัญญาณบอกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรให้มาร่วมกัน “รุมกินโต๊ะจีน” 

แน่นอนว่า หลังการแถลงข่าวดังกล่าว อุณหภูมิโลกดูจะร้อนระอุขึ้นอย่างรวดเร็ว ...

จีนก็ออกมาตอบโต้อย่างทันทีทันควัน ผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติก็ออกมาเฉือดองค์การระหว่างประเทศดังกล่าวแบบไม่เกรงกลัว โดยเรียกร้องให้นาโต้หยุดพูดเว่อร์ๆ เกี่ยวกับ “ทฤษฎีภัยคุกคามจีน”  (China Threat Theory)

“จีนยึดมั่นการพัฒนาแบบสันติสุขเสมอมา พวกเราจะไม่ดำเนินการที่มีความท้าทายต่อระบบกับชาติอื่น แต่หากผู้ใดท้าทายเรา ก็ใช่ว่าเราจะยอมทน”

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็เห็นว่า สิ่งที่น่าโต้พยายามเชิญชวนประเทศสมาชิกมารุมกินโต๊ะจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่ายๆ เพราะหลายประเทศสมาชิกก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่นาโต้ และสหรัฐฯ พยายามปลุกเร้า 

โดยกล่าวว่า “สหรัฐฯ และยุโรปมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน และบางประเทศในยุโรปจะไม่ผูกติดกับแนวทางการต่อต้านจีน และรถม้าศึกของสหรัฐฯ” 

เหมือนจะตอบกลับไปยังนาโต้ว่า ชาติพันธมิตรที่คิดว่าผูกพันกันอย่างเหนียวแน่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีคิดและแนวทางที่นาโต้ประกาศออกมา

หากเราถอดรหัสของนาโต้ซัมมิตครั้งนี้ ก็พบว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ โจ ไบเดน เข้าร่วมประชุม ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของนาโต้ 

“... กรอบความร่วมมือในการป้องกันพันธมิตรร่วมกันถือเป็น “พันธะสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์” (Sacred Obligation) สำหรับสหรัฐฯ ... ผมอยากให้ยุโรปรับรู้ว่าสหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการนี้อยู่”

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยัง “ให้ท้าย” นาโต้ด้วยการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกกล้าออกมาเผชิญกับลัทธิอำนาจนิยม และกำลังทางการทหารของจีน เฉกเช่นเดียวกับที่เคยร่วมกันปกป้องพันธมิตรในยุโรปจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น

ท่าทีและจุดยืนดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ได้ใจพันธมิตร และกลับมามีบทบาทนำในเวทีนี้อีกครั้ง หลังจากที่อดีตประธาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยดูแคลน และกล่าวหาว่าพันธมิตรในยุโรปไม่ทุ่มเทเท่าที่ควร จนถึงขนาดขู่ว่าจะถอนตัวจากนาโต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 



โจ ไบเดนยังกระโดดออกมาแบ็คอัพนาโต้อย่างเต็มที่ โดยสหรัฐฯ เสมือนบอกให้นาโต้ไปลอกการบ้านข้อใหญ่จากกลุ่ม G7 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปก่อนหน้าเพียงวันเดียว

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นนายใหญ่นาโต้จัดเต็มกับจีน ซึ่งเป็นการเปิดแผล “การแยกขั้ว” ให้กว้างขึ้น โดยขยายจากมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลจากเทรดวอร์ เทควอร์ การประชุม G7 และอื่นๆ ไปสู่ด้านการเมืองและการทหาร 

ประเด็นถัดมา นาโต้ซัมมิตในครั้งนี้ ยังเป็นอีกครั้งหนึ่งของการเดินหมาก “สงครามตัวแทน” ที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรวางไว้ในอดีต และถูกดึงมาใช้อยู่เป็นระยะในหลายภูมิภาคของโลก ที่น่ากังวลใจก็คือ การใช้สงครามตัวแทนกำลังเคลื่อนตัวกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกอีกครั้ง 

ดังจะเห็นได้จากท่าทีของนาโต้ที่ระบุว่า แนวคิดและแนวปฏิบัติของจีนดูจะไม่สอดคล้องกับของกลุ่มประเทศสมาชิกหลักของนาโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นหมู่เกาะทะเลจีนใต้ แถมยังเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรร่วมกันตอบโต้ในเรื่องนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลาเพียง 18 เดือนนับจากการประชุมสุดยอดคราวก่อน จีนได้กลายเป็นประเด็นหลักอย่างชัดเจนในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ 

แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่า ในจำนวน 79 จุดใน 3 ย่อหน้าของเอกสารการแถลงข่าวดังกล่าว มีอยู่ถึง 10 จุดที่พูดถึงจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเติบใหญ่ของอิทธิพลและนโยบายระหว่างประเทศของจีนที่กลายเป็นโอกาสและความท้าทายของโลกในปัจจุบันและอนาคต



นอกจากนี้ หากเราพิจารณาอายุการก่อตั้ง ก็พบว่า นาโต้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นี่จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 72 ปีนับแต่ก่อตั้งที่นาโต้กล้าออกมากล่าวหามังกรต่อชาวโลกอย่างโจ่งแจ้ง ว่าง่ายๆ งานนี้นาโต้เลือกเดินเกมส์ในลักษณะ “ฆ่าเพื่อน รักษานาย”

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า จีนจะเชิญชวนชาติพันธมิตรในกลุ่มใดมาแสดงพลังให้นาโต้และสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรหลักได้เห็นกันบ้าง 

รัสเซีย อิหร่าน ปากีสถาน เกาหลีเหนือ ... ล้วนแต่เป็นสายแข็งแทบทั้งสิ้น และยังมีอีกหลายประเทศที่รอเวลาเอาคืนกลุ่มผู้นำเดิมที่ทำตัวเป็น “นักเลงหมู่” ใหญ่คับโลก

เอาเป็นว่าแค่เอ่ยชื่อชาติพันธมิตรของจีนบางส่วนก็อาจทำให้สมาชิกนาโต้หลายประเทศถอดใจ หรือแม้กระทั่งหัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็อาจยกเลิกความพยายามเดิมไปเลยก็เป็นได้

งานนี้ขอเพียงว่านาโต้ในยุคดิจิตัลอย่าเอาแต่พูดเหมือนเดิมเท่านั้นเอง ... 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง