ไทยเดินหน้าสู่ผู้นำ AI อาเซียน ! “สภาดิจิทัลฯ” เสนอบอร์ด AI แห่งชาติ ชู 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนประเทศสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค

ไทยเดินหน้าสู่ผู้นำ AI อาเซียน ! “สภาดิจิทัลฯ” เสนอบอร์ด AI แห่งชาติ ชู 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนประเทศสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะองค์กรหลักด้านนโยบายดิจิทัลของประเทศ โดยมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ และ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ร่วมนำเสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค ที่พร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯ มีดังนี้
ข้อเสนอที่ 1. ส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างเต็มศักยภาพ มุ่งผลักดันการประยุกต์ใช้ AI ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่อนาคต
สำหรับข้อเสนอที่ 2. คือ พัฒนา AI ของชาติ (Sovereign AI) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordability) โดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI อย่างเป็นระบบ เช่น GPU (Graphics Processing Unit) และ Open Source Model เพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในประเทศอย่างเป็นระบบ และเปิดกว้างให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากกรณี Deepseek ซึ่งสามารถพัฒนา Open Source AI ระดับสูงที่นำไปต่อยอดในหลากหลายอุตสาหกรรม
ข้อเสนอที่ 3 ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และจริยธรรมในการใช้งาน AI (Ethical AI) เน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ด้วยการพัฒนากรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ทันสมัย เพื่อป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปลอมแปลงข้อมูล และการคุกคามความเป็นส่วนตัว พร้อมส่งเสริมการพัฒนา “AI อย่างมีจริยธรรม” และยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูล
ข้อเสนอที่ 4 ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้พัฒนา AI โดยเสนอแนวทางดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกโดยให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุน ให้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย พร้อมประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ AI Talents และระบบการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก
ข้อเสนอที่ 5 คือ เพิ่มเป้าหมายการลงทุนด้าน AI ของภาครัฐ (Government Spending) โดยเสนอให้พิจารณาตั้งเป้าหมาย อย่างน้อย 0.05% ถึง 0.1% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 5 ประการนี้ สอดคล้องกับพันธกิจหลักของสภาดิจิทัลฯ ซึ่งมีกรอบแนวคิดการขับเคลื่อน AI ใน 5 ด้าน ได้แก่
1) กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดสำคัญทางด้าน AI (KPI) โดยการตั้งเป้า IMD World Digital Competitiveness Ranking งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ การลงทุนใน Startup ไทย และมีตัวชี้วัดด้าน AI เช่น การทำ AI Transformation การใช้ AI Solutions ของไทย และ การพัฒนา AI Talents
2) สร้างกลไกตลาดที่เอื้อต่อการเติบโตของ AI ผ่านมาตรการส่งเสริมและแรงจูงใจต่าง ๆ (Market Mechanism) ผ่านสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและการลงทุน นโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ และการตั้งองค์กรกลางของรัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย
3) พัฒนากำลังคนด้าน AI ในทุกระดับ (Talents) ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร AI การ Upskill/Reskill บุคลากรให้มีทักษะ AI รวมไปถึงการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาทำงานในประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ และจัดงานแข่งขัน AI ระดับชาติ
4) การเสริมศักยภาพในการเข้าถึงและการใช้งานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา (Empowerment) โดยส่งเสริม AI Transformation การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย Industry Specific และ ส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย และมีจริยธรรม และ
5) การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้าน AI (Technology and Innovation) ผ่านการเพิ่มงบประมาณ R&D การส่งเสริม Open AI Infrastructure รวมถึงผลักดัน AI Center of Excellence อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม AI ของไทยต่อไป
ในการประชุมบอร์ด AI แห่งชาติครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำเสนอโครงการขับเคลื่อนที่สำคัญ พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการเร่งพัฒนานโยบายด้าน AI ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป
สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง AI ระดับภูมิภาค สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน