ทางการไทย ออก 4 มาตรการเร่งด่วน แก้สวมสิทธิ Made in Thailand

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้ ( 22 เมษายน 2568 ) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเรื่อง "การป้องกันการสวมสิทธิสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐอเมริกา" ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมดังกล่าวว่า การส่งออกสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าวไปสหรัฐฯ ต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่สามารถออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป รวมทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่า มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาผ่านไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้หนังสือรับรองฯ ของไทย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นข้อกังวลของสหรัฐฯ
ดังนั้นภายหลังจากหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไข 4 มาตรการ ดังนี้
1. มอบกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป สำหรับสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ เพียงหน่วยงานเดียว
2. กรมค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการปรับปรุงกระบวนการการตรวจสอบก่อนออกใบรับรองโดยมีการตรวจโรงงานอย่างละเอียดและตรวจเอกสารการส่งออกอย่างเข้มงวด สำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะดำเนินการบูรณาการร่วมกับกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. กรมการค้าต่างประเทศได้หารือกับศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection: CBP) ถึงข้อกังวลและแนวทางดำเนินการร่วมกัน โดยจะจัดทำเป็นแนวทางการทำงานและการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อให้ศุลกากรสหรัฐฯ ยอมรับการตรวจสอบของประเทศไทย นอกจากนั้นศุลกากรสหรัฐฯ จะอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยต่อไป
4. ท่านนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาในในช่วงระยะเวลา 90 วันนี้ให้แล้วเสร็จ และให้หาแนวทางในอนาคตที่จะมีการป้องกันสินค้าที่จะมาสวมสิทธิแล้วส่งออกไปยังประเทศปลายทางอื่นๆ ด้วยเพราะเนื่องจากกฎหมายที่ผ่านมาอาจจะล้าสมัยหรือไม่ได้ครอบคลุมการดำเนินการที่ผิดปกติหรือผิดกฎหมายดังเช่นปัจจุบัน
นายวุฒิไกรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์รับจะไปหาแนวทางการใช้กฎหมายหรือมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด โดยจะดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ดำเนินการแล้วระยะหนึ่งจะดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นต่อไปในอนาคต
ท่านนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่าในการออกมาตรการต่างๆ นั้น จะต้องไม่กระทบต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกของไทยและที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ปฏิบัติถูกต้องอยู่แล้ว จะต้องสามารถใช้บริการหรือออกหนังสือรับรองฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพเช่นเดิม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ก็พร้อมรับดำเนินการ