เช็กข่าวปลอมแบบไหน? มิจฉาชีพชอบใช้หลอกปชช. เจอแบบนี้อย่าเชื่อ!
วันนี้ ( 16 ก.ค. 66 )นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,209,611 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 279 ข้อความ ซึ่งช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening 244 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official 35 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 180 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 112 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในกระเทศ 69 เรื่อง อาทิ รัฐเตรียมโอนเงินแก่ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ รับสูงสุด 1,000 บาท 10 กรกฎาคมนี้
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย 67 เรื่อง อาทิ โรคไทรอยด์เป็นพิษ มีความเกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณ และกระเพาะอาหาร
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 13 เรื่อง อาทิ พายุเข้าไทย 77 จังหวัด ฝนตกหนัก ร้อยละ 80 ของพื้นที่ น้ำท่วมใหญ่ และลมแรง และ กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ 31 เรื่อง อาทิ การบินไทย เปิดรับสมัครบุคลากรจองตั๋วเครื่องบิน และโรงแรมออนไลน์ รายได้ 1,000-10,000 บาทต่อวัน เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ
ข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุดได้แก่
- กรมขนส่งฯ เปิดให้ทำข้อสอบใบขับขี่ที่เว็บไซต์ www.thaidriveexam.com
- ธอส. เปิดเพจ GH BANK ชวนลงทุนดอกเบี้ยต่ำ
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับอสังหาริมทรัพย์เจ้าดัง เสนอขายหุ้นหน่วยละ 1 บาท 85 สตางค์
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันข่าวปลอมมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ แอบอ้างเจ้าหน้าที่รัฐแนะนำขั้นตอนการขอรับเงินภาษีคืน จากมิจฉาชีพที่มีการส่งข้อมูลผ่านเอสเอ็มเอสมายังโทรศัพท์ของท่าน หรือพูดคุยทางโทรศัพท์ รวมถึงการได้รับข่าวปลอมผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ และเช็กข้อมูลทุกด้านให้ดีก่อนหลงเชื่อ
ข้อมูลจาก : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ภาพจาก : AFP