CEO คนใหม่ประกาศให้ทวิตเตอร์เป็น "แหล่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่แม่นยำที่สุดในโลก"
หลังจากที่ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) เข้ารับตำแหน่ง CEO ของ ทวิตเตอร์ (Twitter) ได้หนึ่งสัปดาห์ เธอก็ได้โพสต์ระบุเป้าหมายใหม่ของบริษัท ที่เรียกว่า Twitter 2.0 โดยระบุว่า ทวิตเตอร์กำลังผันตัวเองให้เป็น “แหล่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่แม่นยำที่สุดในโลก และเป็นศาลากลางเมืองสำหรับการสื่อสารของโลก" ยัคคาริโนยังส่งอีเมลไปยังพนักงานทั้งบริษัท ซึ่งเนื้อหาในนั้นคล้ายคลึงกับทวีตของเธอในหลาย ๆ ส่วน
ก่อนหน้านี้ เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประกาศการถ่ายโอนอำนาจกุมบังเหียนทวิตเตอร์ไปยัง CEO คนใหม่ โดยมัสก์ระบุว่า ยัคคาริโนจะมุ่งเน้นไปที่การบริหารธุรกิจ ในขณะที่มัสก์ จะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ
สำหรับยัคคาริโน เคยทำงานเป็นประธานฝ่ายโฆษณาและพันธมิตรระดับ Global ที่บริษัทสื่อเอ็นบีซี (NBC Universal) ซึ่งเธอสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.453 ล้านล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่า หน้าที่ใหม่ของยัคคาริโนในบริษัททวิตเตอร์ น่าจะเป็นการนำลูกค้าโฆษณาที่ทวิตเตอร์สูญเสียไประหว่างที่อีลอน มัสก์เข้ามากุมบังเหียนบริษัทเมื่อปลายปีก่อนกลับมา
“เรามีโอกาสเข้าถึงทุกช่องทาง สร้างพันธมิตรใหม่ ๆ เฉลิมฉลองความคิดเห็นใหม่ ๆ และสร้างสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ร่วมกัน”
“ในตอนนี้ฉันบอกได้แค่ว่า ทวิตเตอร์ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนั้น(การเปลี่ยนแปลงโลก)” ยัคคาริโนทวีตยืนยันถึงเป้าหมายของบริษัท
สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่ยัคคาริโนสัญญาว่าจะเปลี่ยนทวิตเตอร์ให้เป็นแพลตฟอร์ม หรือเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูล “อย่างแม่นยำ" เธอยังกล่าวอีกว่า "ทุกคนจำเป็นต้องขับเคลื่อนอารยธรรมไปข้างหน้า ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่มีการกลั่นกรอง และสร้างบทสนทนาที่เปิดกว้างเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน"
ช่วงที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ต้องประสบปัญหา 'การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่มีการกรอง' อย่างหนัก ขณะที่ก่อนนี้ สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่า ทวิตเตอร์ได้ถอดรหัสซอร์สโค้ด (Source Code) ของสหภาพยุโรปออกจากระบบของแพลตฟอร์ม โดยซอร์สโค้ดดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม ตลอดจนเพิ่มความโปร่งใสและควบคุมการแพร่กระจายของบัญชีบอทและบัญชีปลอม
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า เอลลา เออร์วิน (Ella Irwin) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายความไว้วางใจและความปลอดภัยของทวิตเตอร์ ช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีก่อน ก็ลาออกเช่นกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเออร์วินจะดูแลการกลั่นกรองเนื้อหาเป็นหลัก
ที่มาของรูปภาพ Elon Musk Twitter
การเปลี่ยนแปลงด้านการควบคุมบริษัท เกิดขึ้นหลังจากที่ทวิตเตอร์ ไม่สามารถรักษาความไว้วางใจจากผู้ลงโฆษณาได้ สำนักข่าวอินเทอเรสติง เอนจิเนียริง (Interesting Engineering) ยังรายงานว่า บริษัทมีหนี้สินกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 448,000 ล้านบาท หลังจากการเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ และภายใต้การกุมบังเหียนของมัสก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 ทำให้รายได้จากการโฆษณาของทวิตเตอร์ลดลงอย่างมาก
นอกเหนือจากนี้ การเข้ารับตำแหน่งของยัคคาริโน ยังทำให้อีลอน มัสก์ มีเวลาไปบริหารกิจการอื่น ๆ ของเขา เช่นเทสลา (Tesla) และ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)
ในทวิตเตอร์ของยัคคาริโน ยังระบุเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่การสำรวจอวกาศไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า อีลอนรู้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจทำสิ่งนั้น (การแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่)”
ด้านแจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) อดีต CEO และผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ แสดงการสนับสนุนการเข้ารับตำแหน่งของยัคคาริโน โดยดอร์ซียังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เบรคกิง พอยต์ (Breaking Points) ว่า "ผมมั่นใจว่าอีลอน มัสก์ จะจัดการได้ในที่สุด ผมมั่นใจใน CEO คนใหม่ของเขา และผมยังถือหุ้น 3% ของบริษัทใหม่นี้ นั่นหมายความว่า ผมยังสนับสนุนพวกเขา"
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Gearrice