"โรคหอบหืด" 7 วิธีป้องกันที่ผู้ป่วยต้องรู้ ช่วยลดความรุนแรง-อาการของโรคได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรค ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในและนอกครัวเรือน เช่น มลพิษทางอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศแห้งหรือชื้น เชื้อโรค ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า วัชพืช ฝุ่นควันต่างๆ น้ำหอม น้ำยาหรือสารเคมี สัตว์เลี้ยง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยโรคหอบหืด
ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอ หายใจไม่สะดวก มีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดและการหนาตัวอย่างมาก มีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเคร่งครัด
ในขณะเดียวกันอาการของโรคก็ทำให้เสียชีวิตได้ หากอาการกำเริบรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือผิดวิธี หรืออาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน
ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยง และขจัดสิ่งต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือกระตุ้นอาการหอบหืด เช่น ควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ พยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสุราทำให้เพิ่มอาการโรคกรดไหลย้อน และส่งผลให้อาการหอบหืดกำเริบได้
นอกจากนี้ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและหลีกเลี่ยงภาวะเครียด ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคหอบหืดนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ลดอาการความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก AFP