รีเซต

บอกลา "ภูมิแพ้ขนแมว" ด้วยการตัดต่อพันธุกรรม CRISPR ให้คุณกอดน้องเหมียวได้อย่างสบายใจ

บอกลา "ภูมิแพ้ขนแมว" ด้วยการตัดต่อพันธุกรรม CRISPR ให้คุณกอดน้องเหมียวได้อย่างสบายใจ
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2565 ( 10:10 )
150

CRISPR (คริสเปอร์) คือ เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่เข้ามาพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ โดยมีบทบาทตั้งแต่การช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไปจนถึงความสามารถในการ "คืนชีพ" สิ่งมีชีวิตที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้น CRISPR จึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีไปเมื่อปี 2020

ที่มาของภาพ Unsplash

 


ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากบริษัทเคมีชีวภาพ InBio ได้ประยุกต์เทคโนโลยี CRISPR มาใช้ในการสร้างยาหรือวัคซีนที่ช่วยลดปริมาณโปรตีนชนิดหนึ่งในแมวที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในมนุษย์ ให้เหล่าคนรักสัตว์สามารถอุ้มสัตว์เลี้ยงแสนรักได้อย่างไร้กังวล


โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดผื่นคัน, คันตา, ตาแดง, ไอจาม หรือน้ำมูกไหล นอกจากนี้ภูมิแพ้ยังมีความเกี่ยวโยงกับการเกิดโรคหอบหืด ซึ่งเป็นภาวะหลอดลมไวจากการกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอม ทำให้ทางเดินหายใจบวมและตีบแคบจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 


หนึ่งในสิ่งแปลกปลอมที่สามารถกระตุ้นอาการแพ้ในมนุษย์ได้ คือ ขนแมว ในบางพื้นที่มีประชาชนกว่า 30% ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้ขนแมว และจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีประชาชนกว่า 47% เข้ามาพบแพทย์ในแผนกฉุกเฉินเพราะเกิดอาการแพ้ขนแมว บางรายมีอาการรุนแรงจนต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล


ที่มาของภาพ Unsplash

 


อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วตัวการที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ขนแมว คือ โปรตีน Fel d 1 ที่อยู่ในสารคัดหลั่งทั้งน้ำตาและน้ำลายของแมว เมื่อแมวเลียทำความสะอาดขนจะทำให้โปรตีนชนิดนี้ติดอยู่ตามร่างกาย และส่งผลให้คนที่มาสัมผัสเกิดอาการแพ้ เพราะฉะนั้น หากนักวิจัยสามารถยับยั้งการสร้างโปรตีน Fel d 1 ได้ ก็จะสามารถสร้าง "แมวไร้สารก่อภูมิแพ้" (Hypoallergenic cat) ได้ในที่สุด


จากการศึกษายีนของแมวเลี้ยงกว่า 50 สายพันธุ์ และแมวป่าอีก 8 สายพันธุ์ พบว่ามียีนอย่างน้อย 2 ชุดที่ควบคุมการสร้างโปรตีน Fel d 1 และสามารถยับยั้งการทำงานของยีนดังกล่าวได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแมว (เนื่องจากเป็นยีนที่ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เมื่อทดลองยับยั้งยีนสร้างโปรตีน Fel d 1 ในเซลล์ตัวอย่าง พบว่าเซลล์ดังกล่าวไม่สร้าง Fel d 1 ออกมาเลย และไม่พบการกระตุ้นการสร้างขึ้นมาใหม่ แสดงว่าเทคนิคนี้น่าจะใช้ได้ผลเมื่อนำมาทดลองกับแมวจริง ๆ 


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ทั้งนี้ นักวิจัยไม่ได้ต้องการตัดต่อพันธุกรรมของแมวให้เกิดการกลายพันธุ์ แต่จะใช้กระบวนการบำบัดรักษาผ่านตัวยาหรือวัคซีนที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งยีนสร้าง Fel d 1 ในเซลล์เยื่อบุผิวที่ผลิตสารคัดหลั่ง โดยเน้นในกลุ่มคนที่มีเป็นโรคภูมิแพ้ขนแมวแต่ประสงค์อยากเลี้ยงแมว ก็สามารถนำแมวมารับการบำบัดรักษาเพื่อกำจัดโปรตีน Fel d 1 ให้หมดไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Daily Beast

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง