กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์กางแผ่นกระจกปฐมภูมิและแผงกันแสงอาทิตย์เสร็จสมบูรณ์
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ประสบความสำเร็จในการกางแผงกันแสงอาทิตย์ 5 ชั้น และแผ่นกระจกปฐมภูมิทั้ง 18 แผ่น ในวันที่ 9 มกราคม 2022 ตามเวลาในประเทศไทย ขณะตัวกล้องอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1 ล้านกิโลเมตร หลังจากเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 25 ธันวาคม 2021 นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์และเป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดมากที่สุดของภารกิจ
แผงกันแสงอาทิตย์ (Sun Shield) ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ 5 ชั้น ผลิตจากซิลิคอน และแคปตอนเคลือบอะลูมิเนียมทำหน้าที่ป้องกันแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์เพื่อให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ที่เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศประเภทคลื่นอินฟราเรดสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพในอุณหภูมิต่ำประมาณ -223 องศาเซลเซียส สำหรับแผ่นกันแสงอาทิตย์ถูกพับเก็บไว้ในลักษณะคล้ายกระดาษก่อนจะเริ่มกางออกหลังจากกล้องถูกส่งขึ้นอวกาศประมาณ 3 วัน ขั้นตอนการกางแผ่นกันแสงอาทิตย์ใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 10 วัน
กระจกปฐมภูมิมีรูปทรง 6 เหลี่ยม จำนวน 18 แผ่น กระจกแต่ละแผ่นมีขนาดประมาณ 1.32 เมตร เมื่อกระจกทุกแผ่นถูกกางออกเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางรวมกัน 6.5 m กระจกถูกผลิตจากเบริลเลียมเคลือบทองคำมีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การสั่นสะเทือน การแตกร้าวและการสะท้อนแสงได้เป็นอย่างดี ในระหว่างการเดินทางขึ้นสู่อวกาศกระจก 6 แผ่น ด้านซ้าย 3 แผ่นและด้านขวา 3 แผ่น ถูกพับเก็บไว้ด้านข้างเพื่อประหยัดพื้นที่ในระหว่างการขนส่งขึ้นสู่อวกาศ กระบวนการกางแผ่นกระจกใช้มอเตอร์ไฟฟ้าผลักกระจกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์หนึ่งในโครงการอวกาศที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดโครงการหนึ่งโดยมีมูลค่ามากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 340,000 ล้านบาท ระยะเวลาในการพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศนานกว่า 26 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นเสนอโครงการ โดยในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาโครงการต้องประสบปัญหาทั้งในด้านเทคนิค งบประมาณและปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายทำให้กำหนดการส่งกล้องขึ้นสู่อวกาศต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะเดินทางไปยังตำแหน่งจุดลากรานจ์ (Lagrange Point ) 2 หรือ L2 ซึ่งมีระยะห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร
ข้อมูลจาก newatlas.com
ภาพจาก jwst.nasa.gov