รีเซต

อินเดียหวั่นเจอ ‘เชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19

อินเดียหวั่นเจอ ‘เชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19
TNN World
10 มิถุนายน 2564 ( 11:37 )
138
อินเดียหวั่นเจอ ‘เชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19

Editor’s Pick: อินเดียหวั่นเจอ ‘เชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19 โดยพบผู้ป่วย 57% ตายเพราะ “ติดเชื้อซ้ำสอง”



นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอินเดียต่างแสดงความกังวลว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อินเดียอาจเจอกับ 'superbug' หรือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา หลังจากที่มีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใช้ยาเป็นปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้

 

 

สื่อสารล้มเหลว ทำประชาชนเสพติดยาปฏิชีวนะ



ผู้ป่วยโควิด-19 ในอินเดีย ได้รับยาปฏิชีวนะที่รุนแรง อาทิ azithromycin และ doxycycline ระหว่างการรักษาตัว แม้จะมีคำแนะนำว่า นี่ไม่ใช่วิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพก็ตาม



องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลของอินเดียเอง ชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว สามารถใช้ได้กรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 รายนั้น ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย แต่รัฐบาลอินเดียกลับล้มเหลวที่จะห้ามการใช้ยาเหล่านี้ เนื่องจากขาดความชัดเจนในการสื่อสาร



ดร.แอมบริช มิธัล หัวหน้าแผนกต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวาน ศูนย์สุขภาพ Max โรงพยาบาลในเครือของอินเดีย กล่าวว่า "พวกเขาใช้ยาปฏิชีวนะขนาดแรงอย่างเสรีเกินไป มากกว่ายาสเตียรอยด์เสียด้วยซ้ำ ขนาดแพทย์กว่าจะเลือกใช้ยาสเตียรอยด์ ก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่สำหรับยาปฏิชีวนะกลับถูกใช้อย่างมาก เพียงเพราะคิดว่ามันปลอดภัยดี"

 

 


อัตราเสียชีวิต เกือบ 57% หลังเกิดอาการติดเชื้อซ้ำสอง



ก่อนหน้านี้ มีเสียงเตือนออกมาค่อนข้างมากกรณี "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา" หลังมีการศึกษาจากทีมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์อินเดีย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ในนิตยสารโรคติดเชื้อและการดื้อยา หรือ Infection And Drug Resistance โดยวิเคราะห์จากผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 17,534 คน ที่รักษาตัวใน 10 โรงพยาบาล ระหว่าง 1 มิถุนายน ถึง 30 สิงหาคม 2020



พบว่า ผู้ป่วย 640 คน มีการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary microbrial infection) ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาการติดเชื้อปฐมภูมิ โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อในโรงพยาบาล และเกือบ 57% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้เสียชีวิต, ถือเป็นอัตราเสียชีวิตที่สูงมาก เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อทุติยภูมิ ที่พบอัตราการเสียชีวิตราว 11%



สำหรับเชื้อแบคทีเรียดื้อยารุนแรง เช่น K.pneumoniae และ A.baumannii คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุติยภูมิ

 

 



 แพทย์กังวล “แบคทีเรียดื้อยา” ซ้ำเติมสถานการณ์



ผลวิจัยนี้เองทำให้แพทย์ต่างแสดงความกังวลว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินขนาดจะนำมาสู่การติดเชื้อโรคที่ไม่เคยได้รับการรายงานมาก่อน และชี้ว่า นี่จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟที่กำลังโหมกระหน่ำอินเดียในเวลานี้


ขณะที่แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม กลับไม่ได้มีกล่าวถึงการใช้ยาปฏิชีวนะเลย โดยแนวทางก่อนหน้านี้ มีข้อแนะนำเพียงว่า ไม่ควรนำยามาใช้เป็นประจำ, ควรใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง