รีเซต

นายกฯเร่งอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี ครม.เคาะประกันข้าว-ยาง 1.4 แสนล.

นายกฯเร่งอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี ครม.เคาะประกันข้าว-ยาง 1.4 แสนล.
มติชน
1 ธันวาคม 2564 ( 08:56 )
51

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าเศรษฐกิจกำชับให้เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการผลักดันการเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคการลงทุนและการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน

 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม จำนวน 269,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

 

  • ‘สุริยะ’ เผยเอ็มพีไอปีนี้โต 5.2%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวโน้มภาคการผลิตของไทยเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 97.99 ขยายตัว 2.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เอ็มพีไอ 10 เดือนปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 97.26 ขยายตัว 5.93% ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ตัดสินใจปรับประมาณการเอ็มพีไอปีนี้เป็น 5.2% จากเดิม 4-5% ขณะที่จีดีพีอุตสาหกรรมประมาณ 3.9% จากเดิม 3-4% และในปี 2565 ประมาณการเอ็มพีไอขยายตัว 4.0-5.0% ส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5%

 

  • เคาะประกันข้าว-ยาง 1.4 แสนล.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันรายได้พืชเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มเติม วงเงิน 76,080 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 54,972 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงิน 10,065 ล้านบาท รวมวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

 

การจ่ายเงินประกันรายได้หรือเงินส่วนต่างของข้าวนั้นที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.จ่ายไปแล้ว 2 งวด เป็นเงิน 13,000 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 31 งวด ตอนนี้ที่ประชุมอนุมัติวงเงินให้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ธ.ก.ส. ต้องไปประชุม และได้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 3 ให้กับเกษตรกร คาดว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือนธันวาคมนี้ นายจุรินทร์กล่าว

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ต้องเป็นชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย ประกันรายได้ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 มีหลักเกณฑ์เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, กำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย 23 บาท/กิโลกรัม และกำหนดแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด

 

  • กทม.ตรวจเข้มดริงก์ถึง 5 ทุ่ม

นายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์กรณี กทม.ออกประกาศให้ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีสัญลักษณ์ SHA หรือปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง สามารถจำหน่ายและให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึงเวลา 23.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ว่า แนวทางปฏิบัติของเขตพระนครได้มีการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการมากว่า 30 วัน นับตั้งแต่มีประกาศให้สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางสถานประกอบการเอง และเทศกิจ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงพื้นที่ตรวจตราจนถึง 24.00 น. ของทุกวัน

 

เปลี่ยนเป็นการเปิดถึง 5 ทุ่ม เราก็จะยังลงพื้นที่กันเหมือนเดิม เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา มีการประชุมแถวกันถึง 3 รอบ อย่างถนนข้าวสาร เขาก็มีการจัดตั้งจุดคัดกรองของเขาเอง ได้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เมื่อตรวจพบเชื้อ ก็จะมีรถพยาบาลที่ประจำอยู่ที่จุดคัดกรองนำตัวไปส่งที่ศูนย์พักคอยบริเวณวัดอินทร์โดยทันที นายวสันต์กล่าว

 

  • ห่วงยุโรปเที่ยวไทยชะลอตัว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวหลังจากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1-29 พฤศจิกายน อยู่ที่ 128,466 คน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 3 แสนคน แต่ต้องประเมินสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่าจะมีความรุนแรงจะมากน้อยอย่างไร รวมถึงประเมินว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันอาการและช่วยไม่ให้เกิดการเสียชีวิตได้ดีมากน้อยเท่าใด

 

นางมาริสากล่าวว่า ผลกระทบของสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่าสร้างความกังวลมาก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของอาการว่าจะรุนแรงมากน้อยเท่าใด แต่เนื่องจากต้นทางของเชื้อพันธุ์ใหม่อยู่ที่แอฟริกา ซึ่งนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาถือว่าไม่ใช่ตลาดหลักของไทย แต่ความกังวลอยู่ที่ตลาดยุโรปมากกว่า เนื่องจากเป็นตลาดหลักของไทย หากภาครัฐยกระดับมาตรการการเดินทางเข้ามาเข้มข้นมากขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชะลอการเดินทางมาไทยได้ จากเดิมที่อยู่ช่วงการทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ายอดจองห้องพักผ่านช่องทางต่างๆ ยังปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง