"โรคเดือนห้า" ภาวะความเครียดสะสม เมื่อต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ

ใครที่ต้องเริ่มทำงานที่ใหม่แล้วมีอาการหดหู่ ซึมเศร้า เบื่ออาหาร เวียนหัว นอนไม่หลับ บ้างไหมคะอาการเช่นนี้เกิดจากความเครียดที่ปรับตัวไม่ได้ในสิ่งแวดล้อมใหม่หรือที่เรียกกันว่า “โรคเดือนห้า” หรือ โกกัสสึเบียว (五月病 Gogatsubyō)
ความเป็นมาของโรคนี้ มาจากประเทศญี่ปุ่น เพราะที่ญี่ปุ่นนั้น บริษัทต่าง ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งครั้งใหญ่ ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่มีความคาดหวังว่าคนทำงานจะต้องอดทนกับทุกสภาพแวดล้อมให้ได้ จึงทำให้เกิดความเครียด จนกลายเป็นอาการป่วยทางจิตใจ
ความจริงแล้วโรคเดือนห้า คล้ายกับอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้เข้าสู่ภาวะ ซึมเศร้าอย่างเต็มตัวได้ โดยโรคเดือนห้า มักเกิดกับมนุษย์เงินเดือนที่มีความจริงจังกับงานสูง เมื่อพบกับอุปสรรค หรือช่วงเปลี่ยนแปลงงาน และความกดดันต่าง ๆ จึงเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว และมักมีอาการแบบนี้ในช่วงหลังวันหยุดยาวอย่าง Golden Week ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือนห้าพอดี
โรคเดือนห้า ไม่ได้เกิดกับมนุษย์เงินเดือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นักเรียนใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ ก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน อาการที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย การใช้ชีวิต รวมทั้งการทำงาน และการเรียนด้วย จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่เป็นโรคเดือนห้า ปัจจุบันคนไทยก็เข้าข่ายเป็นโรคนี้เหมือนกัน
สำหรับอาการของโรคเดือนห้า ผู้ป่วยจะมีภาวะดังต่อไปนี้
- เหนื่อยล้า เหนื่อยง่าย
- รู้สึกปวดเมื่อยร่างกาย ปวดหัว ปวดหลัง
- ขาดแรงกระตุ้นออกไปทำงาน หรือไปเรียน
- มีรูปแบบความคิดเชิงลบที่เห็นได้ชัด
- นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมากเกินไป มีปัญหาด้านการนอน
- วัฏจักรการกินเปลี่ยนไป บางคนกินเยอะขึ้น บางคนกินน้อยลง
- สูญเสียความสนใจในงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ
- รู้สึกวิตกกังวล หรือไม่สบายใจ โดยแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไปจะส่งผลให้กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” หรือ “โรคเครียด” ได้