‘ดับบลิวเอชเอ’ ยันเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่กระทบการบริการ เดินหน้าลุยตามแผนธุรกิจ
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า การขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ตามรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้ถือหุ้นจากบริษัท ดับบลิวเอชเอ โฮลดิ้ง (WHA HOLDING ) ซึ่งถือหุ้นโดย จรีพร จารุกรสกุล และนายแพทย์สมยศ อนันตประยูร เป็น “จรีพร จารุกรสกุล และบุตรสาว”
โดยไม่ได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มบุคคลอื่น และอำนาจในการควบคุมบริษัทฯ และโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท รวมถึงผู้บริหารยังคงเป็นไปตามเดิม จึงไม่กระทบต่อการบริหารและแผนการดำเนินธุรกิจ สำหรับการปรับโครงสร้างของผู้ถือหุ้นใหญ่ WHA HOLDING แบ่งขายหุ้นให้กับ “นางสาวจรีพร จารุกรสกุล” จำนวน 1,717,900,000 หุ้น และขายหุ้นให้กับ “นางสาวชัชชมนต์ อนันตประยูร” ซึ่งเป็นบุตรสาว จำนวน 769,569,252 หุ้น , “นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์” (หลานชาย) จำนวน 474,200,000 หุ้น และ “นางสาวสุพิชญา พู่พิสุทธิ์” (หลานสาว) จำนวน 474,200,000 หุ้น
“การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนจาก WHA HOLDING มาเป็น จรีพรและบุตรสาวเท่านั้น ซึ่งในครอบครัวยังถือหุ้นรวมกัน 45.51% และไม่กระทบอำนาจการบริหาร และการดำเนินธุรกิจ โดยโครงสร้างผู้บริหาร และกรรมการบริษัททุกอย่างยังคงเป็นไปตามเดิม” นางสาวจรีพรกล่าว
นางสาวจรีพรกล่าวว่า ในด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีของลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วยตนเอง และบางรายขอเลื่อนเซ็นสัญญาออกไปก่อน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกลุ่มลูกค้ารายใดยกเลิกสัญญา
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่ง รวมถึงจุดแข็งของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอฯ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี บริษัทฯ คาดหวังว่า ภายในครึ่งปีหลัง หลังจากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย จะสามารถคลี่คลายไปทางทิศทางที่ดีขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน สามารถกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอด้วย
โดยเชื่อว่าภาพรวมยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม สามารถกลับมาเติบโตได้ตามแผนเดิมที่บริษัทฯ วางไว้ โดยตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2563 จำนวน 1,400 ไร่ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมในไทย จำนวน 1,200 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม จำนวน 200 ไร่
“หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนสามารถคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจีนกำลังผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้แล้ว ในขณะที่ข้อมูลของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของจีน เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้แล้วกว่า 70 – 80% และยังถือว่าเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของทางการจีน ที่เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังจากที่เกิดวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งก็จะส่งผลเชิงบวกกับหลายประเทศที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ในการพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในระยะถัดไปสามารถควบคุมได้ด้วยมาตรการจัดการที่เด็ดขาดจากรัฐบาลจีน” นางสาวจรีพรกล่าว