รีเซต

‘40ซีอีโอ’ระดมสมองสู้โควิด เร่งจัดการวัคซีน-ฉีดทั่ว ปท.

‘40ซีอีโอ’ระดมสมองสู้โควิด เร่งจัดการวัคซีน-ฉีดทั่ว ปท.
มติชน
21 เมษายน 2564 ( 11:13 )
139
‘40ซีอีโอ’ระดมสมองสู้โควิด เร่งจัดการวัคซีน-ฉีดทั่ว ปท.

 

หมายเหตุประธานกรรมการหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทยหารือผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ เมื่อคืนวันที่ 19 เมษายน

 

 

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

การวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ จะสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นหนึ่งในแนวโยบายหลัก ภารกิจ 99 วันแรกของการทำงานในหอการค้า ที่ต้องมีการ Connect the dots คือ ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

อย่างไรก็ตาม วัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จะต้องมีการเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่ กทม.ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

 

หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของ กทม. ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว พร้อมกันนั้น จะจัดทำรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบตัวอย่างของภาคเอกชนที่สนับสนุนการฉีดวัคซีน ให้กับจังหวัดอื่นๆ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ และเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสามารถใช้ความถนัด ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรของพวกเราเพื่อประเทศได้

 

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่าย จะแบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่

 

⦁ TEAM A : Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้ กทม. เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม.แล้วในระยะแรก จำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล, SCG, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, เอเชียทีค, โลตัส, บิ๊กซี, ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม.ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน

 

⦁ TEAM B : Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่างๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท อาทิ Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever เป็นต้น

 

⦁ TEAM C : IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ

 

⦁ TEAM D : Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในวันนี้ได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่ 1.ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีน Moderna และ Pfizer 2.ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics 3.ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech และ 4.ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล

 

ผลสรุปจากการประชุมซีอีโอทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน

 

โดย CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ ซึ่งหอการค้าไทยพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการ Connect the dots เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าหากคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤต COVID-19 นี้ ไปได้อย่างแน่นอน

 

สำหรับซีอีโอที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ บจก.น้ำตาลมิตรผล, บจก.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG), บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ, บมจ.ซีแวลูกรุ๊ป, บจก.เซ็นทรัลพัฒนา, บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป, บมจ.ดุสิตธานี, บมจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป, บจก.โตชิบา ไทยแลนด์, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น, บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม, บจก.ไทยน้ำทิพย์, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ,บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, บมจ.ไทยวิวัฒน์ประกันภัย

 

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บมจ.บี.กริม เพาเวอร์, บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล, บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, COSO Foods Thailand & Vietnam of Pepsi Cola (Thai) Trading Co., Ltd., บจก.เมืองไทยประกันภัย, บจก.ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง, บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา

 

บจก.โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท, บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, บจก.ไลน์ ประเทศไทย, บจก.สยามพิวรรธน์, บจก.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น, บจก.หลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, บจก.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย), บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น, บจก.ไอบีเอ็ม ประเทศไทย (IBM), บมจ.เอ็ม บี เค (MBK Group), บจก.เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย), บจก.กูเกิล (ประเทศไทย), Kao Industrial (Thailand) Co., Ltd., SIAM MAKRO PCL, Minor International PCL, Nestle Indochina, Nestle

 

 

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

 

จากการเข้าร่วมประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัท จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย บริษัท โตชิบา ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ด้วย โดยการประชุมในครั้งนี้หัวข้อหลักที่มีการหารือคือเรื่องการจัดหาวัคซีน เพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายที่ต้องการเปิดประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งเรื่องวัคซีนถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องรีบหาทางออก ภาคเอกชนที่เข้าร่วมทุกบริษัท เห็นพ้องและยินดีที่จะช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว

 

แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าแต่บริษัท จะให้ความช่วยเหลือในทางใดบ้าง คงจะต้องมีการหารือถึงรายละเอียดแนวทางการช่วยเหลือ

 

เบื้องต้นในส่วนของบริษัทโตชิบา อาจจะมีโอกาสช่วยเหลือในส่วนของระบบเทคโนโลยี ดาต้า ตามความถนัดของบริษัท คาดว่าหลังจากนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

 

สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ ต้องติดตามการทำงานของภาครัฐว่าสามารถจัดหาวัคซีนได้จำนวนเท่าไหร่แล้ว มีกฎระเบียบหรือเงื่อนไขอย่างไรบ้าง หากเอกชนต้องการนำเข้าวัคซีนและบริการฉีดให้กับพนักงานและลูกค้าเอง มองว่าการทำงานต้องสอดรับกันไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรนำร่องและเน้นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน เพราะในรอบนี้การระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้เป็นการนำร่องก่อนผลักดันเป็นโมเดลเพื่อไปใช้ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป เบื้องต้นหอการค้าฯได้มีการหารือร่วมกับ กทม.เรียบร้อยแล้ว แต่ในบางรายละเอียด อาทิ สถานที่ในการให้บริการ ต้องมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการเสนอความคิดเรื่องการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยเสนอให้นำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลต่างๆ เข้าไปให้บริการในโรงงาน หรือบริษัทที่มีความต้องการ เพื่อลดจำนวนการเคลื่อนย้ายและป้องกันการกระจุกตัวของกลุ่มคน ถือเป็นอีกข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ต้องหารือถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้อีกครั้ง

 

ในฐานะรองประธาน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ความร่วมมือดังกล่าวกับทั้ง 40 บริษัท เป็นหนึ่งในนโยบาย Connect the Dots เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วันทันทีของ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่ต้องการผลักดันเรื่องเร่งด่วนอย่างการเร่งฉีดวัคซีนให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเรื่องวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้ อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ การจัดหาตู้แช่วัคซีน ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนในเรื่องนี้ แต่ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในไอเดียในการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงทุกจังหวัดได้อย่างเร็วขึ้นอีกด้วย

 

ส่วนความกังวลในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องวัคซีน ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ อาทิ การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) คาดว่าเร็วๆ นี้ จะได้ความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติมากขึ้น และในฐานะที่เข้ามาดูแลเรื่องเอสเอ็มอี จากนี้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ โดยค้าปลีกจะช่วยคัดกรองให้ข้อมูลลูกค้าเอสเอ็มอี ผู้เช่าพื้นที่รวมถึงเป็นซัพพลายเออร์ให้กับธนาคาร เพื่อลดต้นทุน การสนับสนุนโครงการใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง และช่องทางการค้าขายให้เอสเอ็มอี ได้หลุดพ้นจากปัญหาทางการเงินต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง