รีเซต

ย้อนรอย ไทย-ซาอุฯ ฟื้นสัมพันธ์ 2 แสนล้าน ใครได้ประโยชน์?

ย้อนรอย ไทย-ซาอุฯ ฟื้นสัมพันธ์ 2 แสนล้าน ใครได้ประโยชน์?
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 16:09 )
105
ย้อนรอย ไทย-ซาอุฯ ฟื้นสัมพันธ์ 2 แสนล้าน ใครได้ประโยชน์?

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และซาอุดิอาระเบีย ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไม่ดี จากคดีระดับโลกอย่างเพรชซาอุฯ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำเชิญสำคัญของเจ้าชายแห่งซาอุฯ มายังประเทศไทย ให้เข้าพบ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน แน่นอนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในมุมของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างกันมากมาย หลายมุมด้วยกัน ซึ่งทางหอการค้าไทย ประเมินว่า ความสัมพันธ์นี้อาจมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท กลุ่มไหนบ้างที่ได้ประโยชน์ 


และในอีกมุมที่ต้องติดตาม คือ ผลกระทบทางอ้อมของสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จะมีผลกระทบเชิงรัฐศาสตร์การเมือง การปกครอง หรือไม่  โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่กระทบกับคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น จีน ที่เป็นมหามิตรของไทย วันนี้มีคำตอบในมุมของภาคเอกชนมาให้ฟังกัน 

หลังจาก เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดิอาระเบีย ได้เชิญทางการไทยเข้าหารือ เรื่องการกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่รัฐบาลไทย เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปเยือน เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 


การหารือกันครั้งนี้ ต้องบอกว่า ระดับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หน่วยงานภาครัฐต่างออกมาสนับสนุนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเร่งระดับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ทั้งในแง่มุมรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ 


พาคุณผู้ชมไปดูมุมของเศรษฐศาสตร์ก่อน ประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำไมถึงอยากจะฟื้นสัมพันธ์กับประเทศไทย ประเทศที่ไม่โดดเด่นมากนักบนแผนที่โลก สาเหตุสำคัญ คือ นโยบาย Vision 2030 ของทางการซาอุฯ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรายได้เข้าประเทศ สิ่งสำคัญ 3 ข้อ ที่เป็นเป้าหมาย คือ เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน จากระดับ 16% มาเป็น 50% เพราะปัจจุบัน ซาอุฯ พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน คิดเป็น 84% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด


การพึ่งพาสินค้าชนิดเดียวทำให้มีความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจ วันหนึ่งหากการผลิตน้ำมันได้รับผลกระทบ หรือ ไม่มีความต้องการใช้น้ำมัน เหมือนปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้รายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่อาจหายไป ดังนั้นซาอุฯ จำเป็นต้องใช้แต้มต่อจากรายได้ของการส่งออกน้ำมันไปขยายการลงทุนประเภทอื่นๆ บ้าง ซึ่งไทยต้องยอมรับว่าเป็นทำเลทองของอาเซียน กลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตในแง่ของ GDP สูงสุด ไทยเชื่อมต่อได้หลายประเทศอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานต่างพัฒนาไปมาก และที่สำคัญมีการส่งเสริมการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมเป้าหมาย


ขณะที่ภาคเอกชน นับว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ดังนั้นบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศในช่วงเวลาปกติ ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 50% และรัฐทำหน้าที่สนับสนุน หรือใช้รัฐวิสาหกิจแทรกแซงการตลาดบ้างในบางกรณี แต่ปัจจุบันภาคเอกชนของ ซาอุฯ มีบทบาทเพียงระดับ 40% ของ GDP เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุฯ เป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ นำมาสู่ความหวังที่ 2 ของ Vision 2030 ซาอุฯ ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจ หรือ GDP มากขึ้น ซึ่งเป้าหมายในอีก 8 ปีข้างหน้า ซาอุฯ ต้องการเห็นเอกชนมีบทบาท 65% ของ GDP 


อีก 1 ข้อ ที่สำคัญ สอดคล้องกับการที่ให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น คือ เป้าหมายในการลดอัตราการว่างงาน จากระดับ 12% ในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ระดับ 7% คนที่ต้องการทำงาน มาลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน หลังจากนี้จะมีการดูดซับแรงงานที่ว่างงานในระบบมากขึ้น เพราะการมีบริษัท การมีภาคเอกชนมากขึ้น ก็จะมีมีตำแหน่งงานที่เหมาะสมมากขึ้นตามไปด้วย 


ผู้สื่อข่าวของเรา ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์พิเศษ คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากแผนการปฏิรูปฯ Vision 2030 เกิดผลเป็นรูปธรรม จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งไทยและซาอุฯ สนใจลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้น ทางซาอุฯ ยังมีโอกาสที่จะย้ายการดำเนินการ Head Quarter ที่ในภูมิภาคนี้มาที่ประเทศไทยด้วย ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเริ่มตั้งแต่การตั้งฐานลงทุน ไปจนถึงเมื่อเดินเครื่องดำเนินธุรกิจไปแล้ว มีรายได้ ยังส่งมายัง Head Quarter ในไทย ก็ยังนับเป็นรายได้เข้าประเทศไทยด้วย 

ส่วนภาคการส่งออก หอการค้าไทย มีการทำตัวเลขออกมาเปรียบเทียบ ระหว่างปี 2532 ไทยส่งออกไปซาอุฯ ปีนั้นมีสัดส่วน 2.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ไม่ได้นำมูลค่าการส่งออกมาให้ดู เพราะต้องยอมรับว่า 32 ปีผ่านไป มูลค่าของเงินไม่เหมือนเดิม จึงเน้นไปที่สัดส่วนของการส่งออก ส่วนปี 2564 สัดส่วนการส่งออกไทย ไปซาอุฯ อยู่ที่ 0.6% โดยมีตัวเลขส่งออกอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท 


ประธานหอการค้าไทย คาดว่า จะกลับไปมีสัดส่วนการส่งออกกลับไปที่ 2.2% เท่ากัน นั้นหมายความว่าจะมีมูลค่าในการส่งออก 150,000 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการเดินเรื่องของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน ไม่มีเส้นทางบินตรงไทยไปซาอุฯ การเจรจาธุรกิจต้องไปประเทศที่ 3 หรือ ผ่านออนไลน์ แต่ถ้าความสัมพันธ์ดีขึ้น เดินทางระหว่างกันได้ การเจรจาธุรกิจจะง่ายขึ้นตามไปด้วย 


โดยสินค้าไทย ที่ซาอุฯ ต้องการ คือ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวอร์รี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด อุปกรณ์การแพทย์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น


พาคุณผู้ชมไปดู ปริมาณการค้าระหว่างไทย-ซาอุฯ มูลค่าการค้ารวมปี 2562 ก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 2.37 แสนล้านบาท แบ่งเป็นไทยส่งออกไปซาอุฯ 5.7 หมื่นล้านบาท ส่วนการนำเข้า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมัน , ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ปีแรก มูลค่าไทยส่งออกไปซาอุฯ 5.2 หมื่นล้านบาท และนำเข้าน้ำมัน 1.2 แสนล้านบาท ก็ลดลงตามความต้องการ และมูลค่าที่ลดลง ขณะที่ปี 2564 ที่ผ่านมาล่าสุด มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 5.1 หมื่นล้านบาท และนำเข้า 1.81 แสนล้านบาท 


เท่ากับไทยยังคงขาดดุลการค้ากับซาอุฯ ถ้าจะมองเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้มูลค่าของการขาดดุลของไทยกับซาอุฯ ลดลงได้ 



นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น จะมีผลของการเดินทางระหว่างกัน ก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจ การค้า การลงทุนแล้ว ภาคการท่องเที่ยว ยังมีโอกาสที่ไทยจะได้ประโยชน์สำหรับการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ อย่างมาก โดยหอการค้าไทยเก็บตัวเลขเฉลี่ยระหว่างปี 2530-2531 นักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 73,000 คนต่อปี นี่เป็นตัวเลขกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งการเดินทางยังเป็นเรื่องยาก ค่าตั๋วเครื่องบินยังแพงอย่างมาก ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงรายได้เข้าไทย ณ ขณะนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน และสภาพแวดล้อมในการเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมาก จนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ 


แต่สามารถเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ณ ปี 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามาจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก มีการเดินทางจากนักท่องเที่ยว นักธุรกิจเข้าไทย 36,000 คน อย่างที่บอกไป ไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน โดย  36,000 คน สร้างรายได้เข้าไทย 3,240 ล้านบาท โดยหอการค้าระบุ นักท่องเที่ยวซาอุฯ ใช้จ่าย 9 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป มากกว่าค่าเฉลี่ย นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ในปี 2562 ที่อยู่ระดับ 40 ล้านคน มีรายได้ภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท เท่ากับเฉลี่ยใช้จ่าย 5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ดังนั้นนี่จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทย ที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สร้างรายได้สูงเข้าประเทศไทย 


หอการค้าไทย ตั้งเป้าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเมื่อไหร่ มีการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างไม่จำกัด รวมถึงมีการเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างไทย-ซาอุฯ จะได้เห็นนักท่องเที่ยวซาอุฯ เข้าไทย 1.5 แสนคนต่อปี สร้างรายได้ 13,500 ล้านบาท ขณะที่ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า ตั้งเป้าไว้เท่าตัวของหอการค้าไทย ที่ 3 แสนคน หากนับจากค่าหัว 9 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป จะสร้างรายได้ถึง 27,000 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่า อาจเห็นการเดินทางได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 เพราะล่าสุด สายการบินซาอุฯ หลายแห่งเริ่มโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศไทย และมีการคาดการณ์กันของสายการบินซาอุฯ ว่าจะสามารถเดินทางได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ 


ตลาดแรงงาน นับเป็นอีก 1 ปัจจัย เมื่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ดีขึ้น ตลาดแรงงานซึ่งเคยเป็นแหล่งโกยเงินของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงาน หาเงินที่ต่างประเทศ ซาอุฯ ต้องมาเป็นเบอร์ต้นๆ จนทำให้มีการแต่งเพลงเกี่ยวกับการไปทำงานที่ซาอุฯ มากมาย 


คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล่าให้ผู้สื่อข่าวรายการเศรษฐกิจ Insight ฟังว่า เคยเดินทางไปที่ประเทศซาอุฯ เมื่อ 40 ปี ก่อน และมีพนักงานบริการที่สนามบิน พูดภาษาไทยจำนวนมาก ทำให้ทราบว่า นอกจากงานในธุรกิจน้ำมัน ยังมีงานด้านบริการ ซึ่งแรงงานไทยทำได้ดีมานานแล้ว และเป็นที่ต้องการของซาอุฯ ในสมัยนั้น 


ย้อนไปดูระหว่างปี 2513-2523 จำนวนแรงงานไทยในประเทศซาอุฯ มีเฉลี่ยปีละราวๆ 2 แสนคน สร้างรายได้เข้าไทยปีละ 9 พันล้านบาท เท่ากับรายได้ขณะนั้นเฉลี่ย 45,000 บาทต่อคนต่อปี ผ่านไปกว่า 40 ปี จำนวนแรงงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพราะไม่มีเส้นทางบินตรง ปี 2564 จำนวนแรงงานไทยในซาอุฯเหลือ 1 หมื่นคน โดยคำนวนจากรายได้ที่เป็นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศซาอุฯ แล้ว จะมีการสร้างรายได้ราว 3,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายได้ราวๆ 3 แสนบาทต่อคนต่อปี 


โดยเป้าหมายของหอการค้าไทย ประเมินไว้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก 2 ปี คือ ปี 2567 จะมีแรงงานไทยไปซาอุฯ อยู่ที่ 1 แสนคน และระยะที่ 2 ปี 2569 จะมีแรงงานไทย 2 แสนคนในซาอุฯ โดยหากคำนวณค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน แรงงาน 1 แสนคน จะสร้างรายได้ 3 หมื่นล้านบาท และหาก 2 แสนคนจะสร้างรายได้ 6 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมเป้าหมายของทางการ โดยกระทรวงแรงงานตั้งเป้าเอาไว้สูงถึง 8 ล้านคน และถ้าลองนำ 8 ล้านคนไปคูณกับรายได้ขั้นต่ำราวๆ 3 แสนบาทต่อคนต่อปี เท่ากับคนไทยจะมีรายได้จากการทำงานที่ซาอุฯ 2.4 ล้านล้านบาท 


ภาคเอกชน อย่างหอการค้าไทย ประเมินความสัมพันธ์นี้เอาไว้ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ต้องตั้งสถานทูตระหว่างกัน และการเจรจาธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบกับ นายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลี อุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ เศรษฐกิจ การค้า และหารือโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อต้นเดือน ม.ค.65 และคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย และซาอุฯ ภายในครั้งแรกของปี 2565 


ทางเศรษฐศาสตร์ ไทย ดูจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมความสัมพันธ์กับซาอุฯ แต่คำถามต่อมาคือ แล้วในแง่รัฐศาสตร์ ไทยจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ เพราะดูแล้วซาอุฯ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน ไทยไปเชื่อมสัมพันธ์แบบนี้ จะกระทบกับสมัพันธ์ไทย-จีนหรือไม่ เรื่องนี้ ประธานหอการค้าไทย ตอบได้น่าสนใจทีเดียว 


โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจึงเข้ามามีบทบาททางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น อย่างน้อยก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้น และเดินไปตามกลไก พร้อมทั้งมีส่วนในการเพิ่มโอกาสให้ภาคเอกชน เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชากรของประเทศตนเองมากขึ้นตามไปด้วย และถ้าจะบอกว่า นี่คือ 1 ในการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในรอบ 30 ปีก็ว่าได้ โดยผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนไทยทุกคน และยังไม่เห็นมุมในการเสียประโยชน์เหมือนกับประธานหอการค้าไทยได้กล่าวไว้ 





ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง