รีเซต

ข้อเสนอนักธุรกิจถึงรัฐบาล ทางออกฝ่าวิกฤตน้ำมัน-เงินเฟ้อ

ข้อเสนอนักธุรกิจถึงรัฐบาล ทางออกฝ่าวิกฤตน้ำมัน-เงินเฟ้อ
มติชน
17 มิถุนายน 2565 ( 09:11 )
64

หมายเหตุเป็นความเห็นภาคธุรกิจในการปรับตัวและข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ผลักดันเงินเฟ้อพุ่งสูง ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพประชาชน

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สถานการณ์น้ำมันแพงในตอนนี้เป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องหารือ หากราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร และทะลุกรอบไปถึง 40 บาท/ลิตร ที่เร็วเกินไป จะยิ่งกระทบต่อต้นทุนผลิต และทำให้สินค้าและบริการทยอยปรับขึ้นราคา เป็นการซ้ำเติมประชาชน ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจยิ่งฟื้นตัวได้ช้าลงไปเรื่อยๆ ประชาชนไม่เชื่อมั่นและกลัวการจับจ่ายใช้สอย เพราะคาดว่าสินค้าจะทยอยแพงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการบางส่วน อาจจะมีการเก็บกักตุนสินค้า เพื่อไปปล่อยในราคาที่สูงต่อไป ปัญหาปริมาณสินค้าตึงตัวได้

จากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 7.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 5.1% และสูงกว่ากรอบประมาณการของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) ที่คาดการณ์ไว้ 5.5% ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อ ของปี 2565 อยู่ที่ 6% สาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเอกชนยังเชื่อว่าราคาน้ำมัน จะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ หากเศรษฐกิจของโลกมีการฟื้นตัว รวมทั้งมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นของจีน หลังจากเริ่มคลายล็อกจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็ยังไม่เพิ่มกำลังการผลิต ราคาน้ำมันอาจถีบตัวสูงขึ้นกว่านี้ โดยอาจได้เห็นราคาน้ำมันดีเซลสูงใกล้ๆ ลิตรละ 40 บาท ได้ในไม่ช้า

ดังนั้น ต้องมีการเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนไปพร้อมกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่สำคัญต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันได้ทางหนึ่ง หอการค้าไทยจึงเสนอ 4 เรื่องสำคัญที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ได้แก่

1.รัฐบาลต้องพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าจำเป็นจะต้องขึ้นราคา ให้ทยอยขึ้นเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มีการปรับตัว รอให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้มากกว่านี้ก่อน เพื่อไม่ให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้นเร็วเกินไป โดยอีกส่วนที่สำคัญคือ ต้องไปดูถึงค่าการกลั่น ที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ ทางรัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่มีข้อมูลอยู่ ก็ควรที่จะไปเร่งพิจารณาดูในรายละเอียด ไม่เช่นนั้นการใช้แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนอาจจะไม่เพียงพอ และจะทำให้ยิ่งฝืนกลไกตลาดโลก

2.การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ส่วนนี้จำเป็นมากเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ การปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) รอบนี้จะช่วยให้พยุงเศรษฐกิจและฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาเดินหน้าได้ ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเร่งผ่อนคลายมาตรการบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงวงเงินก้อนนี้ ซึ่งเห็นว่าตอนนี้มีวงเงินอีก 40,000 ล้านบาท ที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่ม โดยภาคเอกชนเห็นว่าต้องมีการผ่อนมาตรการในกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูและได้ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้

3.สำหรับมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 ที่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อช่วงนี้ หากจะให้เป็นการทั่วไปนั้น อาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้แล้ว เพราะเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดไว้ คงต้องปรับเอางบประมาณส่วนนั้นมาใช้เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลก่อน และต้องจำกัดการช่วยเหลือ ให้เข้าถึงประชาชนเฉพาะบางกลุ่มที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง

4.เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลต้องมาพิจารณาปรับในส่วนนี้เพื่อให้เหมาะสมกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยควรพิจารณาตามพื้นที่เป็นมติของคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด

ชัยวัฒน์ วิบูลย์วัฒนกิจ
นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

สมาคมกำลังติดตามมาตรการรัฐที่จะออกมาช่วยเหลือจากผลกระทบของน้ำมันดีเซลและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจับตาเรื่องลดค่าการกลั่น การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรให้นานที่สุด เพราะการปรับราคาดีเซลทุก 1 บาท จะมีผลต่อต้นทุนขนส่งสูงขึ้น 3% ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนผู้ผลิตสินค้าและค่าครองชีพประชาชนเพิ่มขึ้น

ส่วนความช่วยเหลือเรื่องราคาพลังงาน สมาคมยังไม่เห็นด้วยกับการใช้คูปองให้กับธุรกิจรถบรรทุก ซึ่งก่อนหน้ารัฐเคยมีแนวคิดแบบนี้มาแล้วเมื่อครั้งดีเซลปรับเกิน 25 บาท เพราะสมาคมเห็นว่าการดูแลราคาน้ำมันดีเซลและพลังงานให้สูงกว่าปัจจุบันจะได้รับประโยชน์เหมือนกันในส่วนรวม อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือออกมาโดยเร็วและกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือเป็นระยะกลางดีกว่าทยอยเป็นระยะสั้น เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถวางแผนบริหารจัดการได้ดีขึ้น เมื่อราคาดีเซลขึ้นแต่ค่าขนส่งก็ใช่ว่าจะปรับขึ้นราคาได้เท่ากับอัตราขนส่งดีเซลที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจรถบรรทุกเองก็กังวล หากราคาดีเซลจะขยับขึ้นต่อเนื่อง จนถึง 38-40 บาทต่อลิตร จะส่งผลต่อผู้รับจ้างขนส่งทันที โดยเฉพาะผู้ให้บริการบรรทุกสินค้าที่เป็นบริษัทเล็กๆ ซึ่งมีสัดส่วนในระบบประมาณ 50% อาจแบกรับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และลูกค้าบางส่วนสู้ราคาไม่ไหว ลดจำนวนเที่ยวหรือหยุดชั่วคราว จะทำให้รถบรรทุกรายเล็ก ต้องปิดตัวลงเพิ่มอีก จากปัจจุบันต้องหยุดวิ่งรถแล้ว 20-30% ซึ่งในส่วนนี้มีทั้งหยุดชั่วคราวและปิดถาวร ขณะที่ในส่วนเปิดบริการอยู่ ต้องใช้วิธีการประคองตัว เพื่อพยุงการจ้างแรงงานและมีปัญหาหนี้คงค้างกับการลงทุนซื้อรถก่อนภาวะดีเซลจะขึ้นพรวด ก็จำเป็นรับจ้างบรรทุกต่อไป แม้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายก็ตาม ซึ่งหวังว่ารัฐจะแก้ปัญหาดีเซลและพลังงาน พอที่จะทำให้ผู้รับจ้างอยู่ได้จนกว่าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะน้ำมันโลกจะคลี่คลายลงกว่านี้ ยอมรับว่าตอนนี้การทำธุรกิจยังลำบากมาก ส่วนใหญ่ทำเพื่อประคองตัว มีรายได้พอเลี้ยงพนักงานไปก่อน พนักงานเองก็แย่ราคาสินค้าขึ้นพร้อมกัน การจะปรับค่าแรงงานก็ทำไม่ได้

ถามว่าผู้ประกอบการปรับตัวกันอย่างไรที่ยังสู้ได้ภาวะดีเซลและพลังงานสูงต่อเนื่องนั้น ที่ผ่านมา 2 ปีเศษ ผู้ประกอบการต่างใช้วิธีการที่แตกต่างกัน เพราะมีความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน แต่เป้าหมายเดียวกัน คือ เน้นลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาทดแทนดีเซลที่สูงขึ้น ปรับแผนรับจ้างในระยะทางที่คุมค่าขนส่งได้ เป็นต้น

อยากย้ำถึงรัฐบาลในการแก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน คือ ดูแลดีเซลไม่ทะลุ 35 บาท/ลิตร ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบต่อเนื่อง จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้จริง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะเดินหน้าต่อไป

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง