อัพเดตสัมพันธ์‘ไทย-ซาอุฯ’ รุกกระชับ‘การค้า-ลงทุน’ เอกชน2ชาติลุยจับคู่ธุรกิจ
หมายเหตุ – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย หลังทั้งสองประเทศกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ให้ข้อมูลถึงการบริการทางการเงินในการทำการค้า การลงทุนกับซาอุฯ ในงานสัมมนา “Thai-Saudi Business Forum” เมื่อเร็วๆ นี้
สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย หวังได้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน จะไม่ใช่เป็นฮันนีมูนพีเรียดแน่นอน ดูได้จากการฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตและการพบปะของนักธุรกิจไทยกับซาอุฯ อย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 ครั้ง เห็นถึงบรรยากาศ และสร้างความตื่นตัวให้กับชาวซาอุฯและเปลี่ยนมุมมองต่อประเทศไทย
จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับรัฐบาลและนักธุรกิจใหญ่ของซาอุฯสะท้อนว่า ประชากรชาวซาอุฯทั้งหมดประมาณ 35 ล้านคน สัดส่วนถึง 90% ไม่เคยเดินทางมาประเทศไทย และรู้จักเมืองไทยน้อยมาก ซึ่งประชากรซาอุฯทุกวันนี้มีอายุช่วง 30 ปี ถึง 65% ยอมรับว่าไม่รู้จักไทย และมองว่าไทยยังไม่ได้พัฒนามากนัก จนเขาเข้ามาเมืองไทย หลังจากความฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ที่มาแล้วเกิดความประทับใจสูง คาดได้ว่าถึงสิ้นปีจะมีชาวซาอุฯมาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 2 แสนคน
ภายในปี 2565 นี้ จะยังมีอีกหลายกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เช่น การเดินทางมาเยือนของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย การจัดคณะผู้แทนไทยและนักธุรกิจไทยนำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปเยือนซาอุฯอีกครั้ง การจัดตั้งสภาธุรกิจไทยกับซาอุดีอาระเบียภายใน 3 เดือนจากนี้ หลังการมาเยือนของคณะซาอุฯเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวคิดที่จะแลกเปลี่ยนการเดินทางพบปะและจัดตั้งสภาธุรกิจไทยกับเมืองต่างๆ ในซาอุฯต่อไป
ขณะเดียวกัน ทางซาอุฯได้เน้นย้ำในเรื่องความระมัดระวังต่อการเจรจาติดต่อกับชาวซาอุฯด้วย โดยอยากให้มีการติดต่อผ่านหอการค้าทั้งสองฝ่ายจะได้มั่นใจว่า ไม่ใช่กลุ่มหลอกลวง จนนำมาซึ่งความเสียหายกับไทยได้รวมถึงย้ำเตือนเรื่องความจริงใจและความซื่อตรงซื่อสัตย์ในความร่วมมือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้จัดงาน“Thai-Saudi Business Forum” ณ ไอคอนสยาม หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนซาอุฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจากนั้น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำภาคเอกชนไทยเยือนซาอุฯเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นการสานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ หลังมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ
การพบปะในแต่ละครั้ง ได้สร้างความคืบหน้าอย่างก้าวกระโดด ดูจากการจัดงานครั้งแรกที่หอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพ จัดงาน “Thai-Saudi Business Forum” มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน เป็นนักธุรกิจจากซาอุฯประมาณ 100 คน และนักธุรกิจไทยจาก 200 บริษัท โดยครั้งนี้ หอการค้าริยาดของซาอุฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับหอการค้าไทย ถึง 12 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนของหอการค้าไทยกับหอการค้าริยาด ร่วมลงนามตกลงที่จะเป็นตัวกลางในการช่วยสนับสนุนในด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนข้อตกลงที่เหลือ เป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิจัยด้านประมงสัตว์น้ำ ความร่วมมือด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้านเครื่องหอม ด้านการบริการเกี่ยวกับการดูแลยานยนต์ (ขยายสาขาและแฟรนไชส์ไปที่ซาอุฯ) การร่วมลงทุนธุรกิจ Hospitality ด้านการบริการและให้คำปรึกษา และด้านโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ยังจัดงาน Thai-Saudi Business Matching โดยภายในงานมีการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งมีเอกชนซาอุฯ จากหอการค้าริยาด 70 บริษัท ประกอบด้วยสาขาต่างๆ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ท่องเที่ยวและโรงแรม สิ่งทอ (เสื้อผ้า/แฟชั่น) สุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เทคโนโลยีและสารสนเทศ R&D โลจิสติกส์ เครื่องมืออุตสาหกรรม อุปกรณ์การเกษตร ทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม ด้านกฎหมาย ด้านพลังงานและเหมืองแร่
หลังจบงานปรากฏว่า เอกชนซาอุดีฯเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทยถึง 352 คู่ เกิดมูลค่าการค้าระหว่างกันโดยทันที คิดเป็นมูลค่ากว่า 130 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดมูลค่าภายในปีแรกกว่า 11,500 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีชาวซาอุฯเดินทางมายังประเทศไทยแล้วหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งสนใจลงทุนภาคเกษตร เทคโนโลยี บริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีอุปกรณ์ช่วยทำเกษตรสมัยใหม่ และยินดีที่จะส่งบุคลากรของซาอุฯมาไทย เพื่อลงทุนร่วมกันเกี่ยวกับภาคเกษตร
ที่คืบหน้าอย่างมาก คือ ซาอุฯมีความยินดีจะจำหน่ายปุ๋ยให้ไทย เบื้องต้นปริมาณ 1 ล้านตัน โดยเป็นการทยอยนำเข้า ขณะที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 5 ล้านตัน
ครารีม อัลอันซี่
กรรมการหอการค้ามณฑลริยาด
และหัวหน้าคณะนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย
การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนและขยายการค้า การลงทุน ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ลดการพึ่งพาน้ำมัน และซาอุดีอาระเบียยังมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับกิกะโปรเจ็กต์โดยมุ่งหวังที่จะเชื่อมโยงเข้ากับแผนการพัฒนาอีอีซีของไทย เพื่อยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ของสองประเทศ
นอกจากนี้ หอการค้าริยาดยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับหอการค้าไทย โดยมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันจำนวน 12 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ การเยือนไทยครั้งนี้ จะส่งผลต่อมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรของฝ่ายซาอุฯ และนำไปสู่การหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อปลดล็อกอุปสรรคและหาแนวทางผ่อนปรนมาตรการในด้านการส่งออก-นำเข้าในสินค้าต่างๆ อาทิ อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
ซึ่งฝ่ายซาอุฯได้แสดงความสนใจระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล รวมถึงระบบการจัดการห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผยง ศรีวณิช
ประธานสมาคมธนาคารไทย
ธนาคารในประเทศไทยมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีธนาคารในซาอุฯ 12 ธนาคารที่มีการติดต่อทำธุรกรรมกับไทย สามารถทำธุรกรรมที่ครอบคลุมทั้งการนำเข้า การส่งออก และธุรกรรมอื่นๆ อาทิ การขอคืนภาษี Withholding Tax สำหรับชาวต่างชาติซึ่งธนาคารในประเทศไทยมีการพัฒนาระบบ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business (Prompt Biz) ซึ่งครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก โดยประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับสกุลเงินหลักของโลก ทั้งสกุลเหรียญสหรัฐ และสกุลเงินของกลุ่มประเทศ G7 รวมทั้งยังรับรองการทำธุรกรรมร่วมกับสกุลเงินเฉพาะอีกมากกว่า130 สกุลเงิน
ธนาคารไทยให้ความสำคัญกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมการค้า เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการสำคัญ คือ
1.โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรของประเทศ ทำให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้า การชำระเงินและภาษีบนระบบออนไลน์ เปลี่ยนจากการค้าแบบใช้เอกสารกระดาษเป็นใช้ระบบดิจิทัล เช่น บริการ e-Invoice e-Tax Invoice และ e-Payment for Business เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรม รวมทั้งเป็นการสร้าง Digital Footprint เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม นำทางไปสู่การพัฒนา Digital Supply Chain Financing และการนำข้อมูลการค้าและการชำระเงินดิจิทัลมาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
2.โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการนำเข้าและส่งออกของประเทศ โดยบูรณาการข้อมูลธุรกรรมที่เกี่ยวทั้งหมด นำ e-Document มาใช้เพื่อลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ เชื่อมต่อกับระบบ National Single Window (NSW) และแพลตฟอร์มการค้าต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อกับ แพลตฟอร์มการค้าของประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และมีแผนที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศในยุโรป และตะวันออกกลางในอนาคต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในเวทีการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ มีบริการหลากหลาย ครอบคลุม ทั้งการโอนเงินระหว่างประเทศ การเรียกเก็บเงิน เอกสารยืนยันการชำระเงินในการซื้อขายสินค้า และการจัดเตรียมเอกสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีช่องทางออนไลน์สำหรับทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่สะดวก ทั้งบริการสินเชื่อการค้าต่างประเทศ และบริการด้านเอกสาร โดยปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าทั้งในไทยและในต่างประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่าเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูง โดยเป็นธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ในไทยสูงถึง 65% เป็นธุรกรรมของสาขาของธนาคารต่างประเทศ 35% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมด สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญต่อธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
ระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ของไทย เอื้อต่อการทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยง (hedging) อีกทั้งกฎระเบียบใหม่ยังอนุญาตให้บริษัทสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้โดยใช้เอกสารประกอบน้อยลง เชื่อว่าจะสนับสนุนให้การค้าระหว่างไทย-ซาอุฯให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต