รีเซต

ส.ธนาคารไทย ชี้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด กว่า 2.8 แสนล้านบาท

ส.ธนาคารไทย ชี้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด กว่า 2.8 แสนล้านบาท
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 10:34 )
46
ส.ธนาคารไทย ชี้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด กว่า 2.8 แสนล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภาคธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารสมาชิกสมาคมฯ ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งในส่วนของการแก้หนี้เดิม เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะ 1-3 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว มาตรการรวมหนี้ พร้อมกับมาตรการในส่วนของการเติมเงินใหม่ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ย และสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเป็นการรักษาสภาพคล่องเดิม และการเติมเงินใหม่ให้ลูกหนี้รายย่อย ตลอดจนช่องทางการช่วยเหลืออื่น ๆ

 

โดยความคืบหน้าในส่วนของการช่วยเหลือข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 289,359 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 124,250 ราย  ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติแล้ว 39,569 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 285 ราย โดยยังมีผู้ประกอบธุรกิจอีกหลายแห่งให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ถ้าดูจากภาพรวมสินเชื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น   จากการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ และธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

 

นายผยง กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาคธนาคารได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Promptpay และ Smart infrastructure เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบ Digital และทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมมือกับธปท. สภาหอการค้า ส.อ.ท.  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก้าวข้ามข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบเดิมๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างแนวทางช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านโครงการ Digital Supply Chain Finance ภายใต้แผนงาน SMART Financial & Payment Infrastructure for Business  ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษ ที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double  Financing)  ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ

 

โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลาง ช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน  เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของ SMEs หลังจากออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขายเอสเอ็มอี เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น โดยในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ Digital Supply Chain Finance

 

รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกจัดส่งให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) และด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางด้าน Alternative Credit Scoring สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้กลับมามีศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน แสดงถึงเจตนารมณ์ของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและโปร่งใส

 

“ภาคธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงเพียงพอ ในการตอบสนองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ  และมุ่งมั่นสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันขับเคลื่อนการเสริมสร้างความสามารถของภาคการเงินและประเทศให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาค”นายผยง กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง