โลกประทับใจ! ไทยเจ้าภาพ APEC 2022
ปิดฉากความสำเร็จลงอย่างงดงาม สำหรับการประชุมผู้นำความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ครั้งที่ 29 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้นำและตัวแทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ – แขกพิเศษเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ภายใต้แนวคิด Open .Connect. Balance. 'เปิดกว้าง-สร้างสัมพันธ์-เชื่อมโยงกัน-สู่สมดุล'
ความสำเร็จประการสำคัญในเวทีระดับโลกครั้งนี้ เป็นภาพที่ "ผู้นำเอเปก” ต่างให้การรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ถือเป็นฉันทามติร่วมกันของผู้นําเอเปก
BCG โมเดล หรือแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นวาระแห่งชาติปี 2564-2569 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และถูกนำมาขับเคลื่อน-เชื่อมโยงไปกับบริบทของโลก ผ่านเวทีเอเปคครั้งนี้
รัฐบาลยังใช้โอกาสนี้ เปิดเจรจากับผู้นำหลายประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ "สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน" ซึ่งเดินทางเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดํารงตําแหน่งประธานาธิบดี โดยทั้งสองประเทศได้หารือขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน พร้อมลงนามความร่วมมือและข้อตกลงร่วมกัน 5 ฉบับ
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ และเป็นสิ่งที่ไทยต้องมองการต่อยอดจากเวทีเอเปค คือ Solf Power อาหารไทย ที่เกิดกระแสจากวงงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่บรรดาผู้นำเอเปค ในคืนวันที่ 17 พ.ย. ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศความเป็นเอกลักษณ์ 4 ภาค บวกกับความโดดเด่นของอาหารไทย กลายเป็นตัวชูโรง จนเกิดกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์ จากผู้นำสิงคโปร์ "ลี เซียน ลุง" ที่โพสต์ภาพถ่ายการแสดงและเมนูอาหารไทย ออกมาประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก นอกเหนือจากการสัมผัส ลิ้มรสของผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ แขกพิเศษ และผู้แทนระดับต่างๆ นักธุรกิจ นักลงทุน และคณะสื่อมวลชนนานาชาติไม่ต่ำกว่า 6,000 -7,000 คน
สำหรับ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก มีประชากรมากกว่า 2,900 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก มีจีดีพีมากกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,700 ล้านล้านบาท ขณะที่ เศรษฐกิจไทย หลังการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคมีทิศทางบวก โดยเฉพาะเมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงข้างหน้า ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ วิกฤติราคาพลังงานที่ยังไม่ยุติ วิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักพร้อมๆ กัน ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป แต่ไทยจะเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชีย ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566
ภายหลังปิดฉากการประชุมเอเปค “ชะลอม” สัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ถูกส่งจากมือนายกรัฐมนตรี สู่มือของนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2023
อรวรรณ พยัคชาติ ทีมข่าวการเมือง TNN ช่อง 16 รายงาน