รีเซต

ADB ชี้ ทำคนเอเชีย 80 ล้านคน “ยากจนขั้นรุนแรง” กระทบเป้าพัฒนายั่งยืน

ADB ชี้ ทำคนเอเชีย 80 ล้านคน “ยากจนขั้นรุนแรง” กระทบเป้าพัฒนายั่งยืน
TNN Wealth
24 สิงหาคม 2564 ( 16:25 )
74
ADB ชี้ ทำคนเอเชีย 80 ล้านคน “ยากจนขั้นรุนแรง” กระทบเป้าพัฒนายั่งยืน

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้ประชากรราว 80 ล้านคนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียเข้าสู่ “ความยากจนขั้นรุนแรง” (extreme poverty) และอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหยระดับโลกภายในปี 2030

 


แบบจำลองของ ADB ระบุว่า อัตราความยากจนขั้นรุนแรงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชีย ซึ่งหมายถึงสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จะลดลงเหลือเพียง 2.6% ในปี 2020 จากระดับ 5.2% ในปี 2017 หากไม่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทว่าวิกฤตสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทำให้อัตราความยากจนขั้นรุนแรงพุ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ราว 2%

 


รายงานของ ADB ย้ำว่า ตัวเลขอาจจะสูงยิ่งกว่านี้ หากพิจารณาถึงความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น สุขภาวะ, การศึกษา และการหยุดชะงักของงาน (work disruptions) ที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก

 


“ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมจากมาตรการควบคุมโรคยังคงปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง และสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรของความยากจน” ADB ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงมะนิลา ระบุ

 


ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา 46 ชาติ และประเทศพัฒนาแล้ว 3 ชาติในเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสมาชิกของ ADB มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการจ้างงานที่ลดลงส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานในภูมิภาคนี้ลดลงประมาณ 8% ซึ่งส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษต่อครัวเรือนที่มีฐานะยากจน และแรงงานนอกระบบ (informal sector)

 


ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ยังเพิ่มความท้าทายให้กับภูมิภาคนี้ในการที่จะบรรลุซึ่งเป้าหมายด้านการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดไว้เมื่อปี 2015

 


รัฐสมาชิกยูเอ็นได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) 17 ประการ ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ท้าทายตั้งแต่การขจัดปัญหาความยากจนเรื่อยไปจนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมถึงขยายโอกาสทางการศึกษาและบริการด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มภายในปี 2030

 


 “เอเชียและแปซิฟิกมีระดับความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ ทว่าสถานการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นรอยแยกทางเศรษฐกิจที่อาจจะบั่นทอนการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมของภูมิภาคนี้” ยาสุยุกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB ระบุในถ้อยแถลง
  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง