เส้นตาย "ภาษีทรัมป์" ประเทศไทยถูกเรียก 36% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก มากกว่าภูมิภาค เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ

เปิดความเสี่ยงประเทศไทย ต่อการขึ้นภาษีการค้าของทางสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% อยู่ในจุดที่สูงมากกว่าหลายๆประเทศ และเป็นแรงกดดันที่จะสะเทือนไปถึงเศรษฐกิจ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออก และสหรัฐฯ คือ ตลาดหลักที่สำคัญ
นับถอยหลังสู่การขึ้นภาษีทรัมป์ 1 สิงหาคม 2568 นี้ เป็นเส้นตายล่าสุดสำหรับทั่วโลก ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำแห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ หวังโกยรายได้เข้าสู่ประเทศ หลังจากขาดดุลการค้าอย่างหนัก และแน่นอนว่าประเทศไทยหนี้ไม่พ้นถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตรา 36% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มหรือลดลงจากการประกาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
"ภาษี 36% " หากเจรจาต่อรองไม่สำเร็จ ลดลงไมได้ จะเขย่าไทยมากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยบทวิเคราะห์ประเด็น “การเจรจาสหรัฐที่ยังไม่ลุล่วงกับเส้นตาย 1 ส.ค. : นัยต่อไทย” มองภาษีตอบโต้ของสหรัฐล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน
SCB EIC มองว่าการที่สหรัฐฯ ได้คงอัตราภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% แต่ลดให้บางประเทศคู่แข่งของไทย นับเป็นสัญญาณน่ากังวล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ไทยโดนอัตราภาษีตอบโต้ 36% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 28% หากไม่รวมไทย ขณะที่ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ 19% ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 16%
ขณะที่คู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเวียดนามเร่งเจรจาหลายรอบจนได้ข้อสรุปดีลกับสหรัฐฯ เป็นชาติแรกของอาเซียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ลดอัตราภาษีตอบโต้จากเดิม 46% เหลือเพียง 20% สำหรับกลุ่มสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม และเหลือ 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิการส่งออกจากเวียดนาม (Transshipping tariff)
หากไทยไม่สามารถต่อรองลดภาษีทรัมป์ลงมาได้ และต้องรับมือกับกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ จะกระทบอะไรบ้างและจะหนักมากน้อยแค่ไหน
SCBEIC วิเคราะห์ผลกระทบจากภาษีทรัมป์ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย พบว่ามีผลตั้งแต่ภาคการส่งออกไปจนถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย
1. ผลกระทบต่อสินค้าส่งออก
SCB EIC ประเมินความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเจรจาขอลดภาษีกับสหรัฐฯไม่สำเร็จ หรือเราเจรจาลดภาษีลงได้เพียงแค่บางส่วน แต่คาดว่าอัตราภาษีที่ไทยจะถูกจัดเก็บจะยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ เรื่องนี้จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจจะอ่อนแอลงได้ เพราะเรามีต้นทุนทางการค้าที่สูงกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ อาจถูกมาเลเซียและฟิลิปปินส์แย่งส่วนแบ่งตลาดได้
ขณะที่สินค้าจากจีน เวียดนาม และเม็กซิโก มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่สินค้าไทยในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่งสัญญาณ
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งโดนกำแพงภาษีตอบโต้ 25% ต่ำกว่าไทย
สำหรับสินค้ากลุ่มยางล้อ ไทยต้องเผชิญข้อเสียเปรียบจากมาตรการยกเว้นภาษีที่สหรัฐให้สิทธิประโยชน์ประเทศสมาชิก USMCA ได้แก่ เม็กซิโก และแคนาดา ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะคู่ค้าอันดับ 1 ได้ในอนาคต
ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ไทยอาจมีแต้มต่อในตลาดสหรัฐฯ ลดลง จากกำแพงภาษีที่สูงกว่าคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามค่อนข้างมาก
: ทางออกอยู่ตรงไหน?
SCBEIC แนะนำว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า พัฒนานวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือภาคส่วนที่รับผลกระทบ เร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ควบคู่กับการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกิจกรรมสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า
2. ผลกระทบจากการถูกกดดันให้เปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐ
นอกจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น เป็นกำแพงภาษีที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว แต่เรายังมีการดีลภาษีที่ไทยพยายามยอมแลกอะไรกับทางสหรัฐฯ เพื่อลดการค้าที่ขาดดุล ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องเปิดตลาดให้สินค้าอเมริกันเข้ามายังบ้านเรามากขึ้น แข่งกับสินค้าของไทย
ดังนั้นไม่ว่าผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะออกมาในรูปแบบไหน กระทบกับใครบ้างยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากไทยเจรจาสำเร็จเราอาจจะได้ภาษีที่ลดลงช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ส่งออกไทยได้ แต่การเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ หรือภาษี 0% ก็ต้องมีการเยียยาวและดูแลภาคธุรกิจภาคผลิตในประเทศด้วยเช่นกัน
จากการประเมินของ SCB EIC พบว่าอุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพดของไทยมีความอ่อนไหวสูง หากภาครัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่สุด) เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐอย่างชัดเจน ประกอบกับโดยปกติแล้วไทยใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นหลักและมีผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก
สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ต้นทุนการผลิตในไทยจะสูงกว่าสหรัฐค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว
: ตั้งรับอย่างไร ?
ระยะสั้น : ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐให้ถี่ถ้วนรอบด้าน โดยการเจรจาเพื่อขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้นและการหาตลาดใหม่
ระยะยาว : ภาครัฐควรเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ไทยควรกำหนด “Red Line” ที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ
ในภาพรวม SCB EIC มองว่า อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯที่อาจเก็บประเทศไทยสูงกว่าคู่แข่งจะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านองค์ประกอบหลัก คือ
การส่งออกสินค้า มีแนวโน้มแผ่วลงในครึ่งปีหลัง เราอาจจะได้เริ่มเห็นมูลค่าการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวในช่วงท้ายไตรมาส 3 และหดตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 ทั้งจากผลของการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงก่อนหน้าที่อัตราภาษีตอบโต้จะมีผลบังคับใช้หมดไป
การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะลงทุนในไทยเพื่อรอความชัดเจนของผลการเจรจาการค้าเทียบคู่แข่งสำคัญ
นอกจากนี้ กำลังซื้อในประเทศที่จะชะลอลงอีกจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังในระยะต่อไป หากการเจรจาสำเร็จได้เร็วจะเป็นสิ่งที่เรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยได้ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐ และไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในไทยต่อเนื่องในระยะยาว
การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง แต่จะชะลอลงแรงขึ้นในช่วงสิ้นปีที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ข้อมูลภาษีในกลุ่ม 10 ชาติอาเซียน ล่าสุด ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2568
*2 ชาติอาเซียนที่ปิดดีล เจรจาการค้าสำเร็จ ลดภาษีลงมาได้ ได้แก่
เวียดนาม จากเดิม 46% เหลือ 20% (สินค้า Transshipment 40%)
อินโดนีเซีย จากเดิม 32% เหลือ 19%
*ภายใต้ข้อตกลงการค้าสำคัญ เช่น เปิดเสรีตลาดในประเทศให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ หรือเรียกเก็บภาษี 0% และเพิ่มการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ
ประเทศ ภาษี
เมียนมา 40%
ลาว 40%
**ไทย 36%
กัมพูชา 36%
บรูไน 25%
มาเลเซีย 25%
ฟิลิปปินส์ 20%
สิงคโปร์ 10%
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
