รีเซต

แคนาดาเซ็นสัญญาสหรัฐฯ ขอร่วมส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ ปี 2023

แคนาดาเซ็นสัญญาสหรัฐฯ ขอร่วมส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ ปี 2023
Xinhua
17 ธันวาคม 2563 ( 22:41 )
85
แคนาดาเซ็นสัญญาสหรัฐฯ ขอร่วมส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ ปี 2023

ออตตาวา, 17 ธ.ค. (ซินหัว) -- นาฟดีป เบนส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมของแคนาดา กล่าวเมื่อวันพุธ (16 ธ.ค.) ว่าแคนาดาได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ ว่าด้วยการส่งนักบินอวกาศชาวแคนาดาเดินทางรอบดวงจันทร์ในปี 2023

 

ในงานแถลงข่าวผ่านทางวิดีโอ เบนส์เปิดเผย "สนธิสัญญาเกตเวย์" (Gateway Treaty) ที่จะทำให้แคนาดาเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติแห่งใหม่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นฐานที่เอื้อต่อการสำรวจและปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคตสนธิสัญญาดังกล่าวยังระบุว่าจะนำนักบินชาวแคนาดาหนึ่งรายโดยสารไปกับยานอวกาศ ระหว่างสหรัฐฯ ทำการบินผ่านดวงจันทร์ในปี 2023 รวมถึงเที่ยวบินถัดไปที่เดินทางไปยังสถานีนี้ที่จะสร้างขึ้นในอนาคต แต่ไม่รวมถึงการลงจอดบนดวงจันทร์

 

(แฟ้มภาพซินหัว : เดวิด เซนต์-ฌาค นักบินอวกาศชาวแคนาดาตอบคำถามระหว่างงานแถลงข่าวในออตตาวา ประเทศแคนาดา วันที่ 7 ก.พ. 2014)

 

"นักบินอวกาศขององค์การอวกาศแคนาดาจะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอาร์ทิมีส 2 (Artemis 2) ที่จะส่งยานขึ้นสู่อวกาศในปี 2023 อันเป็นภารกิจแรกในการพามนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี ซึ่งจะส่งผลให้แคนาดาจะกลายเป็นประเทศที่สองรองจากสหรัฐฯ ที่มีนักบินอวกาศในอวกาศห้วงลึก" เบนส์กล่าวแถลงร่วมกับนักบินอวกาศจำนวนหนึ่งขององค์การอวกาศแคนาดาภายใต้สนธิสัญญานี้ แคนาดาจะสนับสนุนแขนกลใหม่เพื่อช่วยสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Gateway) ซึ่งจะช่วยในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์และภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคตทั้งนี้ เบนส์ไม่ได้เผยว่าแคนาดาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดในการเข้าร่วมภารกิจอาร์ทิมีส 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการส่งยานบินผ่านดวงจันทร์โดยไร้มนุษย์ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในปีหน้า

 

(แฟ้มภาพซินหัว : คริส แฮดฟิลด์ นักบินอวกาศชาวแคนาดาโพสท่าถ่ายภาพระหว่างงานแสดงสินค้า MIPCOM ปี 2017 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 16 ต.ค. 2017)

 

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แคนาดาลงทุนรวม 22.8 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 535 ล้านบาท) ให้กับเฟสแรกของโครงการพัฒนา "แคนาดาร์ม 3" (Canadarm 3) ซึ่งเป็นระบบแขนกลระยะไกลที่จะใช้บนสถานีดวงจันทร์"เราเป็นประเทศที่มีการเดินทางในอวกาศ และเราภูมิใจในประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของเรา" รัฐมนตรีแคนาดากล่าว "การลงทุนในโครงการอาร์ทิมีส 2 รวมถึงกลยุทธ์ด้านอวกาศโดยรวม จะมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 24 ปีข้างหน้า"อนึ่ง องค์การอวกาศแคนาดาเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลายรายที่เข้าร่วมกับความพยายามในการขึ้นสู่ห้วงอวกาศที่นำโดยสหรัฐฯ ร่วมับองค์การอวกาศยุโรปและองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง