รีเซต

'อสมท'​ ไฟเขียว 'กสทช.'​ แบ่งเงิน​เยียวยา​คลื่น 2600 ขีดเส้น 'เขมทัตต์'​ เข้าชี้แจงวันนี้​

'อสมท'​ ไฟเขียว 'กสทช.'​ แบ่งเงิน​เยียวยา​คลื่น 2600 ขีดเส้น 'เขมทัตต์'​ เข้าชี้แจงวันนี้​
มติชน
27 พฤษภาคม 2563 ( 01:14 )
116

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยถึงการพิจารณากรอบวงเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับบริษั​ท อสมท จำกัด (มหาชน) ​ว่า ตามที่ กสทช. ได้ส่งหนังสือถามถึงสัดส่วนเงินเยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่าง อสมท และบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญาในการบริหารเนื้อหาและการตลาด โครงการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกว่าจะเป็นผู้แบ่งเงินเยียวยาเอง หรือจะให้ กสทช. เป็นผู้แบ่งให้ นั้น ขณะนี้​ ได้รับหนังสือตอบกลับจาก อสมท แล้ว เพียงแต่ขอให้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ อสมท เข้าชี้แจง​ด้วยวาจาอีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม​ 2563

 

นายฐากร กล่าวว่า อย่างไร​ก็ตาม ไม่สามารถตอบได้ว่าเรื่องนี้จะยืดเยื้อหรือไม่ แต่โดยความเห็นส่วนตัว​คิดว่า วันที่ 27 พฤษภาคม​นี้ จะมีการลงมติใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การลงมติเกี่ยวกับกรอบวงเงินเยียวยา และ 2.การลงมติว่าจะแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาให้กับ อสมท หรือไม่ ซึ่งถ้ามีมติว่าไม่แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาก็จะมีหนังสือตอบกลับไป แต่หากมีมติให้แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยา ก็จะเป็นไปตามที่ อสมท เสนอ คือแบ่งสัดส่วนตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ เคยพิจารณา​

 

โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวงเงินเยียวยามา 3 แนวทาง บนพื้นฐานระยะเวลาครองคลื่นความถี่ 15 ปี ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีเลวร้ายที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,573.4 ล้านบาท แนวทางที่ 2 กรณีพื้นฐาน วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 3,809.8 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 กรณีที่ดีที่สุด วงเงินเยียวยาอยู่ที่ 6,685.1 ล้านบาท

 

“ตามกฎหมาย​ระบุว่า กสทช. จะแบ่ง หรือไม่แบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาให้กับ อสมท และคู่สัญญา​ก็ได้ แต่การพิจารณาต้องคำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นหลัก กสทช. จึงได้ส่งหนังสือไปยัง อสมท เพื่อขอความคิดเห็น​ ซึ่ง อสมท ได้เสนอให้ กสทช. เป็นผู้แบ่งสัดส่วน​ให้ ดังนั้น​ จึงต้องเป็นไปตามที่ อสมท เสนอ โดยกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ อสมท จะต้องเข้าชี้แจงเอง เพื่อให้ได้ข้อยุติ​เรื่องดังกล่าว​” นายฐากร กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง