'ผอ.อสมท' ร่อนหนังสือ แจงปมซอยค่าคลื่น 2600 เท่าๆ กับเอกชน
‘ผอ.อสมท’ ร่อนหนังสือ แจงปมซอยค่าคลื่น 2600 เท่าๆ กับเอกชน
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงเบื้องหลังที่มาการพิจารณาเรียกเงินเยียวยาคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวพาดพิงถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ว่าไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ อสมท อย่างเต็มที่ในกรณีการเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ของ อสมท จนทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กร โดยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกเงินเยียวยาจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่านความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในจำนวนที่เท่ากับบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยมองว่า อสมท ควรจะได้รับเงินเยียวยาที่มากกว่านี้ ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหาย จนกระทั่งสหภาพแรงงาน อสมท ต้องออกมาเคลื่อนไหวร้องเรียนให้มีการตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของ อสมท และต่อมา ยังได้ปรากฎข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเผยแพร่ทั่วไปอีกว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล อสมท ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย
เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและทำให้สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ใช่ได้รับข่าวสารอันเป็นเท็จที่มุ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของ อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในนามของ อสมท จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่ อสมท ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จนนำมาซึ่งการจะต้องได้รับการเยียวยาจาก กสทช. จากการที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ดังต่อไปนี้
ในการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และประกาศของ กสทช. ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กสทช. ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นที่จะกำหนดจำนวนเงินได้เอง
อสมท ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มีหน้าที่เพียงแจ้งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของการลงทุนและการได้รับประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่ในทางธุรกิจให้ กสทช. ทราบเท่านั้น เพื่อให้ กสทช. ได้นำข้อมูลที่แจ้งไปประกอบการพิจารณากำหนดการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าตอบแทนการเสียโอกาส รวมทั้ง หน้าที่ในการกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าทดแทน ระหว่าง อสมท ผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กับบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ก็เป็นหน้าที่ของ กสทช. ในการกำหนดสัดส่วนด้วยเช่นกัน
ในการเยียวยา อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา แบ่งการเยียวยาเป็น 2 ส่วน คือการจ่ายค่าชดใช้ และการจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งตามกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรม จึงได้กำหนดให้ กสทช. ต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 7 หน่วยงาน มาเป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาส ซึ่งอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณา โดยที่กฎหมายยินยอมให้ กสทช. มีผู้แทน 1 คนร่วมเป็นอนุกรรมการในการพิจารณาด้วย และนอกจากนี้ เพื่อความรอบคอบ กฎหมายยังกำหนด ให้ กสทช. ต้องว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐ จำนวน 3 แห่ง ทำการศึกษามูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ แล้วนำผลการศึกษาของทั้ง 3 สถาบันมาประกอบการพิจารณาของ กสทช. ซึ่งสุดท้าย กสทช. ได้เลือกผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพียงสถาบันเดียวมาประกอบการพิจารณา
เมื่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้เข้าไปชี้แจงในการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้ทราบในการประชุมว่า คณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานมีความเห็นเสนอต่อ กสทช. ว่า ในการเยียวยาให้แก่ อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา ให้จ่ายเฉพาะส่วนค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการ ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายในส่วนของการชดใช้ และในการแบ่งสัดส่วนการ จ่ายค่าตอบแทน ให้แบ่งในสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ในส่วนผลการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ให้จ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นทั้งหมดโดยตรงต่อ อสมท โดยในส่วนของ บริษัท คู่สัญญาให้ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนจาก อสมท ตามข้อตกลงทางธุรกิจที่ได้ทำไว้ร่วมกัน ซึ่งความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้รับแจ้งจาก กสทช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ว่า อสมท จะต้องทำหนังสือยืนยันว่า มีความต้องการจะให้แบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องเลือกตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน หรือตามความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการประชุมชี้แจงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ดังกล่าว กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้แจ้งต่อ กสทช. ว่า ขอให้ กสทช. เป็นผู้กำหนดส่วนแบ่งการจ่ายค่าตอบแทน เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. แต่ได้รับการยืนยันว่า อสมท จะต้องทำหนังสือเสนอการแบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนมาให้ก่อน กสทช. จึงจะพิจารณาให้ ทำให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ไปยัง กสทช. ทั้งที่ได้มีความเห็นทักท้วงแล้วว่า เป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย ที่จะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินและสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งต่อมา ได้มีการนำหนังสือแจ้งยืนยันดังกล่าวของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ไปเผยแพร่ และมีการกล่าวหาว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ดำเนินการเรื่องนี้โดย ไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำให้ อสมท ต้องเสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา
เมื่อได้รับแจ้งว่าจำเป็นต้องทำหนังสือยืนยันการแบ่งสัดส่วนแล้ว กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จึงได้ทำหนังสือยืนยันต่อ กสทช. มีใจความว่า สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง อสมท กับ บริษัทคู่สัญญา ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆ กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด การแจ้งยืนยันดังกล่าวมีเหตุผลในการพิจารณาตัดสินใจดังนี้ เนื่องจากมีความเห็นเสนอต่อ กสทช. ให้พิจารณาทางเลือกในการจ่ายค่าตอบแทนเป็น 2 ทางเลือก ระหว่างความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน ซึ่งมีความเห็นว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดใช้ แต่ให้จ่ายเฉพาะค่าตอบแทนการเสียโอกาสและแบ่งสัดส่วนค่าตอบแทนการเสียโอกาสระหว่าง อสมท กับ บริษัทเอกชนคู่สัญญาเท่ากันกับความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเห็นว่า ให้จ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทางธุรกิจฯ ที่ อสมท ได้ทำไว้กับบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบทั้งสองความเห็นนี้แล้ว เห็นว่า ความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จะทำให้ อสมท ได้รับเงินส่วนแบ่งที่น้อยกว่าเป็นการเสียเปรียบบริษัทเอกชนคู่สัญญา เพราะตามสัญญาที่ทำร่วมกัน ได้กำหนดให้ อสมท มีส่วนแบ่งรายได้จากรายได้รวมในอัตราร้อยละ 9 ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงทั้งหมดในการดำเนินโครงการฯ และ อสมท ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการขาดทุน แต่ถึงแม้จะมีส่วนแบ่งที่น้อยกว่า ก็ถือว่า เป็นรายได้ที่แน่นอนไม่มีความเสี่ยงจากการขาดทุน
เพราะกำหนดส่วนแบ่งจากรายได้ ไม่ใช่กำหนดส่วนแบ่งจากผลกำไรซึ่งไม่มีความแน่นอน แต่หากให้แบ่งสัดส่วนตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ก็จะทำให้ อสมท ต้องได้รับส่วนแบ่งตามสัดส่วนที่กำหนดในสัญญา ซึ่งทำให้ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าการเลือกส่วนแบ่งรายได้ตามความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้ อสมท ได้รับเงินส่วนแบ่งที่น้อยกว่า
ความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานที่เสนอให้แบ่งสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ไม่ได้ให้จ่ายค่าชดใช้ เป็นความเห็นที่ทำให้ อสมท ได้รับประโยชน์มากกว่า คือ ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เพราะแม้จะแบ่งสัดส่วนในจำนวนที่เท่ากัน แต่ อสมท ไม่มีภาระในการจ่ายเงินลงทุน ทำให้ยังเหลือเงินส่วนแบ่งที่ได้รับเต็มจำนวน ขณะที่บริษัทคู่สัญญา มีภาระที่จ่ายเงินลงทุนไป เมื่อหักกลบเงินที่ลงทุนไปแล้ว จึงทำให้ได้รับเงินส่วนแบ่งไม่เต็มจำนวน และมีจำนวนน้อยกว่าที่ อสมท ได้รับ และที่สำคัญ อสมท ยังมีข้อผูกพันตามสัญญากับบริษัทเอกชนคู่สัญญา จึงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดสัดส่วนการแบ่งเงินรายได้ที่ได้รับจากการเยียวยาได้ตามใจชอบ ต้องเป็นไปในกรอบของสัญญาด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงยืนยันให้ กสทช. พิจารณากำหนดแบ่งค่าตอบแทนในจำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานที่เสนอต่อ กสทช. จึงเป็นประโยชน์ต่อ อสมท มากกว่า มิได้ทำให้ อสมท เสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาตามที่มีการกล่าวหาแต่ประการใด การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อส่งผลให้องค์กรซึ่งรอรับเงินเยียวยาชดเชยที่ล่าช้ามานาน ได้รับมติที่เสร็จสิ้นโดยเร็ว อันเป็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
สำหรับขั้นตอนต่อไปจากนี้ อสมท จักต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากสำนักงาน กสทช. เพื่อจะพิจารณารายละเอียดอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ระยะเวลาของการเบิกจ่ายค่าเยียวยา และอื่นๆ