'กสทช.' เตรียมเสนอกก.5G ตั้งกองทุนหนุนเกิดโอทีทีแพลตฟอร์มในประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟอร์มโฮม ฮับ) และโครงการพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มของประเทศไทยต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ต่อน.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ
โดยในส่วนของโครงการพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มของประเทศไทย อาจต้องจัดตั้งกองทุนสนับสนุน เงินอาจมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) หรือกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ผสมผสานกัน เพื่อผลักดันโอทีทีแพลตฟอร์มให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยต้องมีคุณสมบัติในการใช้งานได้เป็นวงกว้างและใช้ได้ทั่วโลก
“มองว่าบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ล้วนมีความรู้ความสามารถ ที่ผ่านมาไม่สามารถพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มได้ เนื่องจากขาดเงินทุน และมีความเสี่ยงในการขอสินเชื่อเพื่อมาลงทุนทำแพลตฟอร์ม ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องให้การสนับสนุนเพื่อผลักดันโอทีทีแพลตฟอร์มให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ให้การสนับสนุนจนกลายเป็นโอทีทีแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย” นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนของการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟอร์มโฮม ฮับ นั้น เพื่อจูงใจบุคลาการจากบริษัทไฮเทคข้ามชาติทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เข้ามาพำนักและทำงานในประเทศไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5จี ซึ่งเป็นประเทศแรกในอาเซียนและเปิดให้บริการแล้ว รัฐบาลจะต้องมีการสนับสนุน อาทิ การให้ความสะดวกในการออกใบอนุญาตทำงาน (เวิร์คเพอร์มิท) ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษี เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาสามารถอยู่ในระบบจัดเก็บรายได้ของไทยได้ อีกทั้ง ประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี เห็นได้จากการจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีค่าครองชีพต่ำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
นายฐากร กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ได้ข้อยุติแล้วว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะต้องดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการไม่ขัดข้อง หากรัฐบาลจะสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับเดิม ซึ่งต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“กสทช. ชุดปัจจุบันเป็นชุดรักษาการที่ทำงานมานาน ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ อาทิ การต่อยอดการใช้งาน 5จี การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ คณะกรรมาธิการเห็นด้วยที่ต้องมี กสทช. ชั่วคราว ภายใต้กฎหมายเดิม เพื่อจะได้กล้าขับเคลื่อนอะไรได้เต็มที่ ทำให้ประเทศเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ จึงจะสรรหา กสทช. ชุดใหม่ โดยชุดชั่วคราวถือว่าสิ้นสภาพ แต่สามารถลงสรรหาภายใต้กฎหมายใหม่ได้” นายฐากรกล่าว