รีเซต

เดินเครื่องสรรหา 'กสทช.'​ ใหม่ สะพัด 'ฐากร'​ ตัวเต็ง

เดินเครื่องสรรหา 'กสทช.'​ ใหม่ สะพัด 'ฐากร'​ ตัวเต็ง
มติชน
24 มิถุนายน 2563 ( 07:12 )
128

เดินเครื่องสรรหา ‘กสทช.’​ ใหม่ สะพัด ‘ฐากร’​ ตัวเต็ง

รายงานข่าวกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภา เรื่องการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …

 

โดยนายพุทธิพงษ์ รายงานว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสรรหา กรรมการ กสทช. แทนกรรมการชุดเดิม ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

 

ดังนั้น จากมติ ครม. ที่มีมติเห็นชอบให้ดำเนินกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน ที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลให้ กรรมการ กสทช. ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่สิ้นสุดลงเมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ จะไม่ตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลของกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด

 

โดยตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ชุดใหม่จำนวน 7 คนนั้น คาดว่าจะสรรหาได้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน​นี้ ซึ่งล่าสุดที่น่าจับตาคือนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งแล้ว และจะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม​ 2563 โดยบทบาทของนายฐากรเป็นที่จับตามาตลอด 4-5 ปีให้หลัง เนื่องจากเป็นผู้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 3G และ 4G และ 5G ล่าสุด ทำเงินเข้ารัฐได้มากกว่า 500,000 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เรื่องการรับตำแหน่ง กรรมการ กสทช. เป็นเรื่องที่ยังพูดไม่ได้ และคงต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการสรรหา อย่างไรก็ตาม ตลอดการทำงานในสำนักงาน กสทช. มีภูมิใจว่า ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้จัดสรรคลื่นความถี่ได้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน และยังรองรับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้งานได้มากถึง 3,420 เมกะเฮิรตซ์ โดยเป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำและย่านกลางจำนวน 620 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่านสูงจำนวน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นปริมาณสูงกว่าที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ ที่สำคัญยังจัดประมูล 5G ได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับภารกิจหลักของ กสทช. ที่ผ่านมานั้น จะพยายามสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม รวมถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สัญญาณไวไฟ ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตฟรีพร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นเวลา 5 ปี ในทุกพื้นที่ตามตามโครงการยูโซ่ เน็ตประชารัฐ ปูพื้นฐานสำหรับการรักษาทางไกล การต่อยอดธุรกิจชุมชน การเรียนการสอนออนไลน์ต่างๆ

การจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดิน โดยปัจจุบันได้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารในเขต กทม. และปริมณฑล จำนวน 120 กม. และในต่างจังหวัดจำนวน 74 จังหวัด จำนวน 709 กม. สำหรับการนำสายลงดินดำเนินการไปแล้ว 160 กม. ในเขตพื้นที่ กทม. และในต่างจังหวัด น่าน พะเยา ลำปาง นครพนม และเชียงใหม่ จำนวน 80 กม. นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังพยายามขับเคลื่อนการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ผ่านหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคาดว่า จะทำให้การดำเนินการมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

อีกทั้ง มีการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยมียอดผู้ลงทะเบียนกว่า 74 ล้านเลขหมายในเวลาเพียง 6 เดือน ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจนแก่ประชาชน การลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นการพิสูจน์ตัวตนทางหนึ่ง จึงช่วยป้องกันผู้บริโภคจากมิจฉาชีพ เพราะสามารถยืนยันตัวตนได้หากมีปัญหาในการใช้งาน ที่สำคัญ เป็นการวางรากฐานสำหรับการบูรณาการฐานข้อมูลผู้ใช้งานระหว่างภาคโทรคมนาคมและภาคธนาคาร เอื้อต่อการชำระเงินผ่านมือถือ (พร้อมเพย์) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ ทั้งนี้ การลงทะเบียนซิมให้ความสำคัญต่อการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ

 

การดำเนิน 4 โครงการที่สำคัญในช่วงโควิด ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนเงินให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจากเงินงบประมาณของสำนักงาน กทสช. และเงินกองทุน กสทช. รวม 1,294 ล้านบาท โครงการเพิ่มเน็ต 10 กิกะไบต์ ให้ประชาชนใช้ฟรี โครงการเพิ่มเน็ตบ้าน 100 เมกะบิต และโครงการโทรฟรี 100 นาที

“โลกทุกวันนี้มุ่งหน้าเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงบทบาทของ กสทช. ที่จะต้องมีมากขึ้น ทั้งเวทีในประเทศไทยและนานาชาติ เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต ซึ่งในมุมมองของผม ขอเสนอ 4 แนวทาง คือ1.ในระยะยาว กสทช. ต้องมองไปข้างหน้าและหาให้ได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่จะขับเคลื่อนโลกโทรคมนาคมในอนาคต และดำเนินนโยบายตามแนวทางนั้น โดยต้องสอดคล้องกับพันธกิจของ กสทช. และยึดโยงกับประโยชน์สาธารณะ 2.ต้องสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในวงกว้างต่อ กสทช. 3.ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายของ กสทช. ในบริบทที่เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม และ 4.ภายในบ้านของเราเอง เราต้องมุ่งที่จะพัฒนาองค์กรให้กลายเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศและภูมิภาคซึ่งมาจากความรู้ความสามารถ การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” นายฐากร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง