'ต่างชาติ' แห่ถามไทยแลนด์พาส ไร้คำตอบ-จี้เคลียร์ด่วน ส.อ.ท.จี้ รบ.ไฟเขียวจัดโซนดื่ม 1 พ.ย.
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเปิดประเทศรับต่างชาติ 46 ประเทศ เข้า 17 จังหวัดสีฟ้า เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่าอยากให้ภาครัฐเร่งกระจายวัคซีนให้มากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยและต่างชาติ และอยากให้มาตรการด้านความปลอดภัย แนวทางปฏิบัติต่างๆ เหมือนกันในทุก 17 จังหวัด อยากให้คำสั่งมาจากส่วนกลางเพื่อให้การปฏิบัติตัวเหมือนกัน ไม่เกิดความสับสน ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าต่างชาติที่เข้ามาไทยจะไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวแต่จะรวมถึงนักลงทุนด้วย เพราะที่ผ่านมามีนักลงทุนต้องการเข้ามาสำรวจพื้นที่การลงทุนก่อนตัดสินใจ แต่ไม่สามารถเข้ามาได้
“รัฐบาลกำหนดเปิดให้ดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย อยากให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่กำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว เพราะการพักผ่อนโดยเฉพาะชาวต่างชาตินั้นจะคู่กับการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนมาตรการความปลอดภัยนั้นก็สามารถกำหนดขั้นตอนปฏิบัติควบคู่ไปด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว
นายกรด โรจนเสถียร คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย ในฐานะประธานภาคเอกชนของโครงการหัวหิน รีชาร์จ กล่าวว่า การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ วันที่ 1 พฤศจิกายน ขณะนี้ภาคเอกชนเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว พร้อมตั้งแต่เดือนกันยายนเพราะเดิมคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังรอดูความชัดเจนของระบบไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) ผ่านเว็บไซต์ www.tp.consular.go.th แทนการยื่นขอใบอนุญาตขอเดินทางเข้าราชอาณาจักร (ซีโออี) จากกระทรวงการต่างประเทศ จะเปิดระบบก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ระหว่างนี้ให้ยื่นขอซีโออีไปก่อน หลังจากนั้นระบบหลังบ้านจะมีกระบวนการทำงานต่อเอง ภาคเอกชนจึงขอดูว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาผ่านระบบการจองดังกล่าวจะราบรื่นหรือมีขั้นตอนใดต้องปรับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
“ขณะนี้การจองยังต้องยื่นเอกสารผ่านซีโออีเหมือนเดิม ซึ่งมีความยุ่งยาก ทำเอกสารจำนวนมาก เมื่อต่างชาติทราบว่าไทยจะใช้ระบบไทยแลนด์ พาส จึงเลื่อนการจองออกไป เพื่อรอระบบดังกล่าวเพราะสะดวกกว่าทำให้ความต้องการ (ดีมานด์) ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงระบบใหม่เข้ามามากจากนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปวดหัวมาก เพราะปัญหาคือ ผู้ประกอบการไม่สามารถตอบคำถามกับลูกค้าให้ชัดเจนได้ว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร พอตอบคำถามไม่ได้ ลูกค้าก็เริ่มอารมณ์เสีย และพานจะยกเลิกไปเที่ยวประเทศอื่นแทน มีลูกค้าสอบถามเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ เยอรมนี และโซนยุโรป เป็นกลุ่มตลาดหลักที่ต้องการให้เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย รวมถึงมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงมาก แต่พอเราไม่มีความชัดเจนในระบบไทยแลนด์ พาส และยังใช้ซีโออีอยู่ ก็ทำให้ดีมานด์หายไป” นายกรดกล่าว