สงครามการค้า รบกันด้วย " ภาษี ? " สะเทือนเศรษฐกิจโลก

เราทุกคนกำลังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามการค้าโลก
ที่รุนแรงขึ้นทุกวินาที จากการตอบโต้ไปมาระหว่างมหาอำนาจ
สหรัฐ และจีน ที่ต่างฝ่ายต่างขอสู้ถึงที่สุด
ทำให้ตอนนี้มีกำแพงภาษีสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ สูงที่สุดในรอบ 100 ปี
เมื่อจีนถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารวมแล้วกว่า 145 %
และสิ่งที่กำลังจะตามมาติดๆ ไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนของคนจีน คนอเมริกันเท่านั้น
แต่เป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทุกประเทศหรือโลกทั้งใบนี้
จุดเริ่มต้นมาจากนโยบายของผู้นำสหรัฐ ที่ชื่อทรัมป์ ที่ประกาศศักดานับตั้งแต่วันที่รับตำแหน่ง
ว่าจะขอทำให้อเมริกากลับสู่ยุคทอง กลับมาร่ำรวยอีกครั้ง
โดยอ้างว่าที่ผ่านมาสหรัฐได้ทำการค้าแบบเสียเปรียบกับทุกชาติในโลก ดังนั้นวันนี้ถึงเวลาต้องปลดแอก
ขึ้นภาษี รีดเงินกับทุกคนทุกชาติ ไม่เว้นแต่เพื่อนบ้านหรือพันธมิตร เพื่อหารายได้เข้าประเทศ
หลังจากสหรัฐฯได้เดินหน้าขึ้นภาษีศุลกากรชาติต่างๆ ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ได้ออกมาชื่นชม บอกถึงความสำเร็จ ได้การกวาดรายได้เข้าสู่ประเทศ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคาร (8 เมษายน 2568) ว่า
สหรัฐฯ ได้รับรายได้วันละ 2 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากการเก็บภาษีนำเข้า
ทรัมป์กล่าวว่า ภาษีนำเข้าของเขาจะกลายเป็นตำนานในทางที่ดี
ทั้งนี้ย้อนกลับไปนับตั้งแต่วันที่ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 20 มกราคม 2568
มาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นเวลาแค่ 3-4 เดือน
แต่ทรัมป์ก็ได้เดินหน้านโยบายการค้าเชิงรุก ด้วยการใช้ "ภาษีศุลกากร" เป็นเครื่องมือสำคัญ
ซึ่งหวังจะบีบให้ประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ที่อเมริกาต้องการ
โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเม็กซิโก แคนาดา
และที่สำคัญ คือ การพุ่งเป้าไปที่ "จีน" ซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาล
ทรัมป์ขึ้นภาษีจีนหลายครั้ง และจีนก็ตอบโต้ทุกครั้ง
เริ่มจากครั้งที่ 1 คือ
1 กุมภาพันธ์ 2568 ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้า"จีน" ครั้งแรก 10 %
จีนโต้กลับ ด้วยการขึ้นภาษีถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรการเกษตร
4 มีนาคม 2568 ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าครั้งที่ 2 อีก 10 % รวมเป็น 20 %
จีนโต้กลับ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าเกษตร ไก่ หมู เนื้อวัว 15 %
2 เมษายน 2568 ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี RECIPROCAL TARIFF หรือภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน
ซึ่งมีทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตรา 10 %
พร้อมด้วยภาษีที่ขึ้นพิเศษเจาะจงไปยังแต่ละประเทศในอัตราที่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10-50 %
และจีนก็โดนภาษีที่ว่านี้ไปอีก 34 % รวมเป็น 54 %
และแน่นอนจีนก็ตอบโต้ไปอีกทันควัน
ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอเมริกา 34 % เท่านั้น
และรอบนี้ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ควันออกหู
ออกมาตอบโต้และขู่ว่าจะเพิ่มภาษีอีก 50 % หากจีนไม่ยกเลิกการตอบโต้นี้ภายใน 1 วัน
และสุดท้ายจีนก็ไม่ถอย บอกจะสู้ถึงที่สุด และย้ำว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังทำคือสิ่งที่เรียกว่าแบล็กเมล์
ทำให้รัฐบาลสหรัฐ กดปุ่ม ขึ้นภาษีจีนรวมทั้ง 104 % นับตั้งแต่ 9 เมษายน 2568
ล่าสุดรัฐบาลจีน ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นทางด้านภาษีกับสหรัฐฯ
ด้วยการดำเนินขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% (จากเดิม 34%) มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน นี้เป็นต้นไป
ขณะที่ทรัมป์ก็สู้ยิบตา จัดภาษีให้จีนไปเต็มข้อที่ 125 %
และยังไม่จบที่ตัวเลขนี้
เพราะล่าสุด วันที่ 10 เมษายน 2568 ทำเนียบข่าวได้เปิดเผยว่ารัฐบาลสหรัฐ ได้ขึ้นภาษีกับทางการจีนรวมแล้วอยู่ที่อัตรา 145 %
จากนั้น ก็มีรายงานว่า กระทรวงการคลังจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐจาก 84% เป็น 125%
ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2568
ศึกภาษี ระหว่างสหรัฐและจีน
กำลังลุกลามบานปลายอย่างหนัก
ตลาดหุ้นผันผวน และดิ่งลงทั่วโลก
ผู้คนในสหรัฐเริ่มเกิดความสับสนวุ่นวาย
หลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกามีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น
มีรายงานว่าประชาชนชาวอเมริกันนับล้านออกมาต่อต้านสิ่งที่ผู้นำของเค้าทำ
และทำลายทรัพย์สินของเทสลา เนื่องจากเป็นของอีอลน มัสก์ มือขวาคู่ใจของทรัมป์
นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าผู้คนเริ่มแห่ซื้อสินค้ากักตุน ตั้งแต่ของกินของใช้ ไปจนถึงของใหญ่
เช่น รถยนต์ รถกระบะ โทรศัพท์ไอโฟน สินค้าของแอปเปิ้ล เพราะคาดว่าราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัวจากผลการขึ้นภาษีใหม่
ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ปั่นป่วนและผันผวนอย่างหนัก
แม้กระทั่งตลาดสหรัฐฯเอง ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงต่อเนื่องทุกวัน
นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศมาตรการขึ้นภาษีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยดัชนี S&P 500 ปิดต่ำกว่า 5,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งปี
ขณะนี้ดัชนีลดลง 18.9% จากจุดสูงสุดล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568
ใกล้จะเข้าเกณฑ์ตลาดหมี (Bear Market) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อลดลง 20%
บริษัทในดัชนี S&P 500 สูญเสียมูลค่าตลาดไปแล้ว 5.8 ล้านล้านดอลลาร์
นับตั้งแต่การประกาศขึ้นภาษีเมื่อวันพุธที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการสูญเสียมูลค่าในช่วง 4 วันที่รุนแรงที่สุด
นับตั้งแต่มีการสร้างดัชนีนี้ในทศวรรษ 1950 ตามข้อมูลจาก LSEG
นอกจากนี้ยังมี ‘The Magnificent Seven’ หรือหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 ตัวในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ประกอบด้วย Alphabet, Amazon, Apple, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla
คิดเป็นสูญเสียมูลค่ารวมกันมากกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2 วัน
นับจากการประกาศใช้นโยบายภาษีของทรัมป์
ในขณะที่ราคาทองคำก็พุ่งแรง ในฐานะของสินทรัพย์ปลอดภัย
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาบวกไปแล้ว 20 % สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทำให้เราได้เห็นราคาทองคำในประเทศไทย ทะลุ 5 หมื่นบาทไปแล้วในชาตินี้
เพราะคนกังวลถึงความไม่แน่นอนจากนโยายของทรัมป์ การตอบโต้กลับจากจีนและชาติต่างๆ
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับราคาสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบหรือไวน์ อันเป็นผลจากสงครามการค้า
ทั้งนี้ผลสำรวจของรอยเตอร์ยังพบด้วยว่าชาวอเมริกัน เกือบสามในสี่
คาดว่าราคาสินค้าในชีวิตประจำวันจะเพิ่มขึ้นในอีกหกเดือนข้างหน้า
สงครามการค้าโลก เดินเกมด้วยภาษี
ผู้เล่นคือสหรัฐ และจีน
แต่ทุกคนทุกประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะต่างเป็นมหาอำนาจ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของโลก
ผลกระทบต่อสงครามการค้าครั้งนี้ น่ากลัว และน่าห่วง
ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง
ประเมินว่านโยบายของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่สำคัญ
นับตั้งแต่ บริษัทข้ามชาติจำนวนมากอาจชะลอการลงทุนเพื่อตีความท่าทีของสหรัฐฯ
และประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจใหม่ ส่งผลต่อ กระแส FDI หรือการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ
และวัฏจักรการลงทุน (Capex Cycle) ในภูมิภาคต่างๆ
พร้อมด้วยความเชื่อมั่นใน Global Supply Chain ลดลงอย่างมีนัยสาคัญ
โดยเฉพาะในภาคการผลิต ส่งผลต่อคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) และแผนการขยายกำลังการผลิต
แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น
บั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า
ความเสี่ยงของการเกิด “Fragmentation of Trade”
หรือการแบ่งขั้วการค้าระหว่างกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของการค้าโลก
ดังนั้นจึงต้องจับตาช่วงที่สำคัญ คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา”
คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 เดือน เทียบเคียงกับสงครามการค้าปี 2018
ขณะที่ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุ นโยบายภาษีตอบโต้ที่รุนแรงกว่าคาดของสหรัฐฯ
ได้เพิ่มความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า
ในระยะข้างหน้า ความตึงเครียดทางการค้าโลก อาจมีพัฒนาการในหลายทิศทาง ได้แก่
1.การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ
2. มาตรการตอบโต้ที่ลุกลาม กลายเป็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ
3. ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตของหลายประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สงครามยังไม่จบอย่าเพ่งนับศพทหาร
วันนี้ก็เช่นกัน สงครามการค้าโลก เพิ่งเริ่ม
เรายังไม่สามารถนับได้แม้กระทั่งตัวเลขภาษีด้วยซ้ำไป
เพราะทรัมป์ ยังคงมีการประกาศขึ้นลงแทบรายวัน ขึ้นอยู่กับการต่อรองเจรจา
ดังนั้นต้องเตรียมตั้งรับกันให้ดี กับสิ่งที่จะตามมา