บาฮามาสสร้างบ้านพลังงานสะอาด ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าต้นไม้ 5,200 ต้น
บาฮามาสเปิดตัวบ้านต้นแบบที่สร้างด้วยคอนกรีตทางเลือก ซึ่งมันสามารถดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้พอ ๆ กับต้นไม้ 5,200 ต้น และมีแผนการที่จะสร้างเพิ่มอีก 999 หลัง
บ้านดังกล่าว พัฒนาโดย พาร์ทันนา (Partanna) บริษัทสตาร์ตอัปด้านวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน ซึ่งก่อตั้งโดยริค ฟ็อกซ์ (Rick Fox) อดีตนักบาสเก็ตบอล NBA ทีมลอสแองเจลิส เลคเกอร์ (Los Angeles Lakers) ที่หลังจากนั้นก็ผันตัวมาเป็นนักแสดง เขาได้ก่อตั้งร่วมกับ แซม มาร์แชล (Sam Marshall) สถาปนิกอีกคนหนึ่ง โดยเป้าหมายของพาร์ทันนา คือการทำให้คอนกรีตทางเลือกเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้ได้จริงและสามารถลดมลพิษจากการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้
ทั้งนี้คอนกรีตถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่มาก ต้นเหตุที่จริงก็คือปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในคอนกรีต ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 8% ทั่วโลกในระหว่างกระบวนการผลิต เพราะต้องได้รับความร้อนสูงในเตาเผา และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากหินปูนด้วย (Limestone) ดังนั้นพาร์ทันนาจึงได้พัฒนาวิธีสร้างคอนกรีตโดยไม่ต้องใช้ซีเมนต์ แต่ใช้ส่วนผสมเป็นน้ำเค็มจากโรงงานแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และตะกรันซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเหล็กแทน
คอนกรีตทางเลือกของพวกเขาสามารถผลิตได้ในอุณหภูมิปกติ จึงไม่ต้องใช้พลังงานมากนัก รวมถึงยังได้พัฒนาสารยึดเกาะพิเศษ ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมา ทำให้คอนกรีตสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ข้างในได้ด้วย นอกจากนี้หากคอนกรีตที่ดูดซับมลพิษนี้พังแล้วก็สามารถนำมาบดเป็นส่วนผสมของคอนกรีตใหม่ได้อีก โดยบริษัทเรียกคอนกรีตนี้ว่า “คาร์บอนเนกาทีฟ (Carbon Negative)”
ทั้งนี้ ได้มีการนำคอนกรีตทางเลือกไปสร้างบ้านขนาด 116 ตารางเมตร ซึ่งได้รับการรับรองจาก Verra บริษัทรับรองคาร์บอนเครดิตชั้นนำของโลก ว่าจะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่ากับต้นไม้ที่โตเต็มที่ 5,200 ต้นต่อปี และแน่นอนว่าหากบ้านหลังใหญ่กว่านี้ มันก็จะช่วยดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่านี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนผสมหลักของคอนกรีตคาร์บอนเนกาทีฟ คือตะกรันที่ได้มาจากเหล็กที่ใช้พลังงานสูงในการผลิต และน้ำเกลือที่ได้จากโรงแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ซึ่งก็ถือว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งพาร์ทันนา ระบุว่า โรงผลิตเหล็กและโรงแยกเกลือไม่ได้นับเป็นกระบวนการผลิตของพวกเขา พวกเขาเพียงนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์เท่านั้นเอง
ซึ่งเทวารักษ์ ราวิกุมาร์ (Dwarak Ravikumar) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาก็ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่นำของเสียมาก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการวิเคราะห์เรื่องนี้จากมุมมองของระบบ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวม
นอกจากนี้ พาร์ทันนายังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลบาฮามาส เพื่อสร้างบ้านแบบนี้อีกกว่า 999 หลัง เริ่มจาก 29 หลังแรกที่จะสร้างอยู่ใกล้กันกลายเป็นชุมชน คาดว่าจะเริ่มสร้างในปีหน้า และเชื่อว่าต่อไปโปรเจกต์นี้ก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านหลังแรก
ที่มาข้อมูล Theverge
ที่มารูปภาพ Partanna