“ญี่ปุ่น” เฝ้าระวัง ภูเขาไฟ "ชินโมเอะดาเกะ" อาจปะทุแม็กมา หลังปะทุครั้งแรกในรอบ 7 ปี

นักภูเขาไฟวิทยาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟของรัฐบาลญี่ปุ่น กำลังติดตามเฝ้าระวังภูเขาไฟ "ชินโมเอะดาเกะ" อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการปะทุของแม็กมา โดยภูเขาไฟลูกนี้ยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องมานาน 10 วันติดแล้ว ตั้งแต่ระเบิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นับเป็นการระเบิดครั้งแรกในรอบ 7 ปีตั้งแต่ปี 2018
สถานการณ์ล่าสุดวานนี้ (2 ก.ค.) ชินโมเอะดาเกะได้ปะทุพ่นกลุ่มเถ้าภูเขาไฟสูง 2,800 เมตร หรือ 2.8 กิโลเมตรเหนือปากปล่องภูเขาไฟ ทางสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) เตือนอาจมีหินภูเขาไฟตกลงมา วัสดุภุเขาไฟ (pyroclastic) อาจไหลออกไปกินพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตรจากภูเขาไฟ อย่างไรก็ตาม ระดับเตือนภัยที่ภูเขาไฟชินโมเอะดาเกะ ยังคงเดิมอยู่ที่ระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ
คณะกรรมการวิจัยภูเขาไฟของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประชุมกัน ผู้เชี่ยวชาญภูเขาไฟรายงานต่อที่ประชุมว่า นับตั้งแต่เกิดระเบิดเมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ชินโมเอะดาเกะได้ปล่อยก๊าซภูเขาไฟหลายชนิดออกมาจำนวนมาก และมีความเคลื่อนไหวที่เปลือกโลกบ่งชี้ว่า เกิดการสะสมตัวของแม็กมาบริเวณใต้ดินในระดับลึก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เถ้าภูเขาไฟยืนยันว่า ยังไม่ได้เกิดการปะทุใหม่ของแม็กมาแต่อย่างใด สถานการณ์ภูเขาไฟดังกล่าวในขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน
ด้านชิมิสึ ฮิโรชิ ประธานคณะกรรมการชุดนี้ ระบุว่า การประเมินสถานการณ์ภูเขาไฟชิโมเอะดาเกะดังกล่าว เป็นการประเมินของเขาเพียงคนเดียว และยืนยันว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ชิโมเอดาเกะในขณะนี้ ยังไม่ใช่การปะทุของแม็กมา จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังเพื่อประเมินว่า การสะสมตัวของแม็กมาใต้ภูเขาไฟลูกนี้ เกิดการเร่งตัวมากขึ้นหรือไม่
สำหรับภูเขาไฟชินโมเอะดาเกะ เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลัง ตั้งอยู่บนภูเขาคิริชิมา ทอดตัวข้าม 2 จังหวัดคือคาโงชิมาและมิยาซากิ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
