รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 เม.ย.2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 เม.ย.2565)
TeaC
8 เมษายน 2565 ( 19:09 )
278
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 เม.ย.2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดยูเครนร้องขอนาโตจัดส่งอาวุธนานาชนิดให้ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (7 เม.ย.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 เม.ย.2565)

 

เหยื่อขีปนาวุธรัสเซียถล่มสถานีรถไฟ ดับพุ่ง 39 ราย เจ็บ 87

จากกรณีเกิดเหตุสถานีรถไฟครามาทอร์สค์ สถานีรถไฟที่ใช้เป็นเส้นทางอพยพของประชาชนออกจากแคว้นโดเนตสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ถูกขีปนาวุธของรัสเซียถล่มติดต่อกัน 2 ลูกซ้อนเมื่อวันที่ 8 เมษายน ล่าสุดทางการยูเครนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 39 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 87 คน

 

ภาพที่เผยแพร่หลังเกิดเหตุแสดงให้เห็นพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเต็มไปด้วยศพที่ถูกสะเก็ดระเบิดจนเลือดนองพื้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนขีปนาวุธขนาดใหญ่ที่เขียนตัวอักษรภาษารัสเซียว่า “เพื่อลูกหลานของเรา” เอาไว้ด้วย

 

ขณะที่นายโซโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนระบุว่าในเวลาเกิดเหตุไม่มีทหารยูเครนอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด มีเพียงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุที่เตรียมขึ้นรถไฟอพยพออกจากพื้นที่เท่านั้น

 

ด้านผู้บริหารการรถไฟยูเครนระบุว่มีเด็กอย่างน้อย 2 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองครามาทอร์สค์ ระบุว่าในขณะเกิดเหตุมีประชาชนอยู่ในพื้นที่ราว 4,000 คน

 

อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีดังกล่าว พร้อมกับระบุว่าชิ้นส่วนขีปนาวุธที่ตกอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟนั้นเป็นขีปนาวุธที่ใช้เฉพาะในกองทัพยูเครนเท่านั้น

 

ข้อมูล : TNN World

 

ยูเครนร้องขอนาโตจัดส่งอาวุธนานาชนิดให้

ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน แถลงว่า การสู้รบในภูมิภาคดอนบาส ภาคตะวันออกของยูเครน จะย้ำเตือนโลกให้นึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีรถถังเข้ามาเกี่ยวข้องหลายพันคัน

 

พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต จัดหาอาวุธทุกชนิดที่ยูเครนต้องการ และยูเครนจะสู้ไม่เพียงแต่เพื่อความมั่นคงของยูเครนเท่านั้น แต่เพื่อความมั่นคงของนาโตด้วย

 

พร้อมกล่าววิจารณ์บางประเทศที่ยังลังเลไม่ทำตามข้อเรียกร้องของยูเครน เรื่องการจัดหาความช่วยเหลือด้านอาวุธในการสู้รบกับรัสเซีย เพราะกลัวว่าจะถูกดึงเข้าไปร่วมในสงครามครั้งนี้

 

รัฐมนตรีคูเลบา ระบุว่า "ข้อเสนอที่ยูเครนมีให้นั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม คือเมื่อคุณจัดหาอาวุธให้เรา เราก็จะเสียสละชีวิตของเราเอง และสงครามก็จะจำกัดอยู่แค่ในยูเครนเท่านั้น"

 

คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนมีขึ้นที่การประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกนาโต ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันเรื่องการจัดหาความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนในรูปของระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ อาวุธต่อต้านยานเกราะ และความสนับสนุนด้านอื่น ๆ
คูเลบา กล่าวว่า "ยิ่งมีอาวุธมาถึงยูเครนมากเท่าไร และเร็วแค่ไหน เราก็จะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้มากขึ้นเท่านั้น เมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ก็มีโอกาสรอดจากการถูกทำลาย และจะไม่มีเมืองที่ถูกกระทำอย่างเมืองบูจาอีก"

 

รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนยังได้กล่าวขอบคุณชาติตะวันตกที่เพิ่มมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย แต่ก็เรียกร้องให้มีการลงโทษเพิ่ม โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย รวมทั้งขอให้มีการตัดธนาคารทุกแห่งในรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก หรือ SWIFT ตลอดจนห้ามท่าเรือทุกแห่งรับเรือขนส่งและสินค้าจากรัสเซียด้วย

 

ด้าน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า พันธมิตรนาโต พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธส่งให้ยูเครน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกและนักวิเคราะห์ด้านการทหาร กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาคาดว่า รัสเซียจะโหมโจมตีในภาคตะวันออกของยูเครนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

 

สมัชชาใหญ่ยูเอ็นยุติบทบาทรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ลงมติให้ยุติบทบาทสมาชิกของรัสเซียในคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็น เนื่องจากข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน

 

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 47 ประเทศ กรณีมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงจากส่งกองทัพบุกยูเครน โดยมีประเทศสมาชิก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ สนับสนุน 93 เสียง ขณะที่อีก 24 ประเทศ คัดค้าน และ 58 ประเทศงดออกเสียง

 

โอลอฟ สคูก เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า การลงมติที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในวันนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงความรับผิดชอบและหวังว่าจะช่วยป้องกันและขัดขวางการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

 

ส่วน เจนนาดี คุซมิน รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวหลังการลงมติว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นขั้นตอนที่ผิดกฎหมายและมีแรงบันดาลใจทางการเมือง และจากนั้นก็ประกาศว่า รัสเซียได้ตัดสินใจลาออก ยุติบทบาทจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเองอยู่แล้ว และว่าไม่ต้องการอยู่ร่วมทำงานกับประเทศตะวันตกที่เขากล่าวหาว่าดำเนินการกระทำผิด หรือยั่วยุให้เกิดการกระทำผิดด้านสิทธิมนุษยชน

 

ด้าน เซอร์กี คิสลีตสยา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำยูเอ็น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัสเซียไม่ต้องยื่นใบลาออก หลังจากถูกปลดออกจากการเป็นสมาชิก

 

ทั้งนี้ รัสเซียอยู่ในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเป็นปีที่ 2 ในวาระ 3 ปี ซึ่งภายใต้มติของยูเอ็นในวันพฤหัสบดี (7 เมษายน) สมัชชาใหญ่ยูเอ็นอาจตกลงกันในภายหลังให้ยุติการระงับสมาชิกภาพได้ แต่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อรัสเซียประกาศลาออกเอง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ สหรัฐฯ เคยทำมาแล้วในปี 2018 กรณีที่สหรัฐฯรู้สึกว่า มีความลำเอียง หรืออคติต่ออิสราเอล และขาดการปฏิรูปองค์กรโลกแห่งนี้ และสหรัฐฯ ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว

 

ข้อมูล : TNN World

ภาพ : Reuters

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง