รีเซต

เกษตรกรหัวใส ใช้พื้นที่ข้างบ้าน เลี้ยงปลาดุกในกระชังบกเสริมรายได้ช่วงโควิด

เกษตรกรหัวใส ใช้พื้นที่ข้างบ้าน เลี้ยงปลาดุกในกระชังบกเสริมรายได้ช่วงโควิด
มติชน
25 มกราคม 2565 ( 22:25 )
170
เกษตรกรหัวใส ใช้พื้นที่ข้างบ้าน เลี้ยงปลาดุกในกระชังบกเสริมรายได้ช่วงโควิด

ทางเลือกใหม่สำหรับชาวบ้านที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี มีเนื้อที่เล็กน้อยข้างบ้าน นำปลาดุกเลี้ยงในกระชังบกใช้เวลาเพียง 3-4 เดือนจับมาบริโภคได้ เหลือนำไปแปรรูปขายได้อีก ลงทุนหลักพันได้กำไรหลักหมื่น

 

เมื่อวันที่  25 ม.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ไปดูตัวอย่างความสำเร็จของชาวบ้านที่ ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งใช้พื้นที่ข้างบ้านเพียงไม่กี่เมตรเลี้ยงปลาดุกในกระชังบกลักษณะเป็นตาข่ายสีฟ้าอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นผ้ายางอย่างหนา โดยแบ่งเป็นรุ่น ๆ มี 2 กระชัง โดยชุดแรกได้จับขายไปแล้ว ส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปขายผ่านทางออนไลน์ มารุ่นนี้เลี้ยงมาประมาณ 3 เดือนเศษ เป็นปลาดุกที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว นำผักตบชวามาใส่ไว้เพื่อให้หลบอาศัย จะให้อาหารวันละมื้อ และเปลี่ยนน้ำเพื่อให้ปลาเจริญเติบโตดี ไม่มีกลิ่นคาว

 

นายไชยวิทย์ บัวงาม อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ 4 ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ปลาที่เลี้ยงเป็นปลาดุกที่สะอาด ถ่ายเทน้ำได้สะดวก กรณีน้ำเสียก็ให้ถ่ายน้ำออก แล้วเติมน้ำเข้าไปใส่ใหม่ ทำให้ไม่มีกลิ่นคาวปลา แต่หากเลี้ยงเป็นบ่อน้ำหรือสระน้ำใหญ่จะถ่ายน้ำไม่ได้ โดยการเลี้ยงปลาในกระชังบกจะเลี้ยงอาหารเม็ดปลาดุก มีข้อดีคือ ไม่มีเมือก มีกลิ่นคาวปลา

 

 

สำหรับพันธุ์ปลาดุกซื้อมาขนาดเท่านิ้วก้อยตัวละ 60 สตางค์ เลี้ยงมา 3-4 เดือน ก็จับขายได้ อย่างที่เห็นนี้อายุประมาณ 3 เดือนเศษ เริ่มทยอยจับขายไปบ้างแล้วกิโลกรัมละ 50 บาท อย่างกระชังใหญ่จะเลี้ยงจำนวน 2,000 ตัว แต่หากกระชังเล็กอีกชุดที่เลี้ยงข้างๆ ปล่อยปลาได้ 1,000 ตัว ปลาดุกตัวใหญ่ จะมีน้ำหนักประมาณ 4-5 ตัว/ กก. นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกร้า ลูกสาวจะเป็นคนทำและขายผ่านทางเฟซบุ๊กกิโลกรัมละ 180 บาท จึงถือเป็นข้อดีกับชาวบ้านที่มีพื้นที่เล็กน้อย ใช้เพียงพื้นที่รอบ ๆ บ้านก็สามารถเลี้ยงปลาไว้บริโภค เหลือก็ยังขายได้ เลี้ยงง่ายโตเร็วไม่ยุ่งยาก แค่ให้อาหารปลาดุกกินวันละ 1 ครั้ง สามารถทำงานอื่นได้ หมั่นดูน้ำที่เลี้ยงอย่าให้เสีย ให้สังเกตหากปลาดุกลอยหัวก็ให้รีบถ่ายเทน้ำออกแล้วเติมน้ำใหม่ลงไป หรือ อาจจะถ่ายน้ำเดือนละ 1 ครั้งก็ได้ จะทำให้ปลาเจริญเติบโตดี

 

 

นายไชยวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับต้นทุนการเลี้ยงจะมีตาข่ายกระชังปลาสั่งซื้อทางออนไลน์ราคา 1,500 บาท กว้าง 3.5 เมตร ยาว 5 เมตร พันธุ์ปลาดุกอุยตัวละ 60 สตางค์ เลี้ยงในกระชังใหญ่จำนวน 2,000 ตัว กระชังเล็ก 1,000 ตัว สำหรับค่าอาหารช่วง 3 เดือนหมดไปจำนวน 6 กระสอบ ๆ ละ 410 บาท โดยลงทุนครั้งแรกจะมีค่าตาข่ายกระชังปลาการเลี้ยง แต่พอเลี้ยงครั้งที่ 2 ก็สามารถเลี้ยงได้ต่อไปได้เลย เหลือลงทุนแค่ค่าอาหารกับพันธุ์ปลา วันไหนอยากกินก็จะไปทำกินเป็นกับข้าวได้ ช่วงโควิดมองว่า สามารถอยู่ได้ เพราะมีปลาเลี้ยงเอง และยังมีชาวบ้านมาสั่งซื้อเรื่อย ๆ ก็จะจับขายมีรายได้อยู่ตลอด

 

 

นอกจากนี้ที่บ้านยังปลูกผักไว้กินเองหลายชนิด เช่น มะนาว มะละกอ มะรุม ฟัก ผักคะน้า พริก มะเขือ ด้านข้างยังเลี้ยงไก่ไข่ ไก่บ้าน และห่านที่เลี้ยงเอาไว้เฝ้าบ้านหากมีผู้บุกรุกอย่างสุนัข งู และสัตว์อื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่ก็จะส่งเสียงร้องเสียงดังเพื่อให้เกิดความกลัว อีกทั้งมี พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัย ส่วนปลาที่เลี้ยงไว้ทำกินเป็นอาหารบริโภค ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พออยู่ พอกิน ในช่วงโควิดที่จะต้องอยู่กันอย่างพอเพียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง