“ทรัมป์” คุยปธน.จีน เป็นไปด้วยดี ตลาดเพิ่มโอกาส Fed ลดดบ.
#หุ้นต่างประเทศ #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดบวกในวันศุกร์ ด้วยแรงหนุนหลัง Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ว่า การสนทนาส่วนตัวกับประธานาธิบดีจีน Xi Jinping ออกมาในทิศทางที่ดีในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นการเปิดเผยก่อนที่ Trump จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันจันทร์นี้ (20 ม.ค.) โดยตลาดคาดหวังนโยบายการปรับลดอัตราภาษีของภาคธุรกิจและการผ่อนคลายกฎระเบียบ จะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ และกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของนาย Christopher Waller (หนึ่งในผู้มีสิทธิออกเสียงด้านนโยบายการเงินของ Fed) ที่แสดงความเห็นว่า ธนาคารกลางอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ หากเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวต่อไป
Trump เผยว่าได้มีการสนทนาทางโทรศัพท์กับ Xi Jinping ซึ่งการสนทนาเป็นไปได้ด้วยดี และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ โดยระบุใน Truth Social ว่า "ผมหวังว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาหลายอย่างไปด้วยกัน โดยเริ่มต้นในทันที" นอกจากนี้ "เราได้หารือกันเกี่ยวกับประเด็นการค้า, ยา เฟนทานิล, TikTok และประเด็นอื่นๆ ซึ่งผมและท่านประธานาธิบดี Xi จะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อให้โลกนี้มีความปลอดภัยและสงบสุขมากขึ้น" ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันที่คาดหวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะคืบหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Xi ไม่ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของ Trump แต่ได้ส่ง Han Zheng รองประธานาธิบดีเป็นตัวแทนเข้าร่วม
Waller สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการฯ Fed และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ได้แสดงความเห็นในรายการ “Squawk on the Street” ของ CNBC ว่า "ตราบใดที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง และยังคงมีทิศทางเช่นนั้นต่อไป ผมก็คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด"โดยจำนวนครั้งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น “สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราได้รับหากเรามีความคืบหน้าอย่างมาก เราก็จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก โดยอาจจะเป็น 3 หรือ 4 ครั้ง แต่ถ้าข้อมูลไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เราก็คงปรับลดได้เพียง 2 ครั้งหรืออาจจะเป็นครั้งเดียว หากเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นอย่างมาก"
หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนาย Waller ส่งผลให้ตลาดการเงิน (Fed Watch Tool) ปรับน้ำหนักโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bps ของ Fed ในรอบประชุมเดือน มี.ค. และ พ.ค. ขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน แม้ยังคงประเมินว่าการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในปีนี้ 25bps จะเกิดขึ้นในการประชุมเดือน มิ.ย. ด้วยน้ำหนัก 45% (vs. สัปดาห์ก่อน 42%) ขณะที่น้ำหนักการคงอัตราดอกเบี้ยลดลงสู่ระดับ 34% (vs. 46% สัปดาห์ก่อน) ทั้งนี้ตลาดให้น้ำหนักเกินกว่า 90% เช่นเดิมว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28-29 ม.ค. นี้
ศาลฎีกาสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์เห็นพ้องตามกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ ByteDance ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ภายในวันอาทิตย์ที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะถูกลงโทษตามกฎหมายหากไม่ลบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวออกจากระบบ
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่า Trump กำลังพิจารณาการออกคำสั่งผู้บริหารที่จะระงับการบังคับใช้กฎหมายขายหรือแบนกิจการ TikTok เป็นเวลา 60-90 วัน หลังเข้ารับตำแหน่งฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ Trump ได้แสดงความเห็นว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของ TikTok นั้นจะขึ้นอยู่กับตัวเขา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนที่เขาจะดำเนินการ ทางด้าน Shou Zi Chew ซึ่งเป็น CEO ของ TikTok ได้กล่าวขอบคุณ Trump เมื่อวันศุกร์ในความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับ TikTok และหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้แอปพลิเคชั่นยังคงใช้งานได้ในสหรัฐฯ
ฝ่ายกลยุทธ์ฯมองว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับ TikTok อาจจะทำให้เม็ดเงินจากนักโฆษณาบางส่วนมีการย้ายเข้าไปในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเช่น Facebook, Instagram และ Snapchat ซึ่งคาดจะได้รับอานิสงส์จากประเด็นนี้ โดยเรายังคงชอบ Meta Platforms และแนะนำซื้อเก็งกำไรก่อนงบออกในวันที่ 29 ม.ค. (แนวรับ $599/$549แนวต้าน $638/$670 ตัดขาดทุนหากราคาต่ำกว่า$540)
Janet Yellen รมว. คลังสหรัฐฯ ได้ระบุในเอกสารถึงผู้นำสภาคองเกรสเมื่อวันศุกร์ว่ากระทรวงการคลังจะเริ่มใช้มาตรการพิเศษ (Extraordinary measures) ในวันอังคารที่ 21 ม.ค. นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินเกินเพดานและความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า "ระยะเวลาที่มาตรการพิเศษจะสามารถใช้ได้นั้น อาจมีความไม่แน่นอนอย่างมากรวมถึงความท้าทายในการคาดการณ์การชำระเงินและการรายรับของรัฐบาลสหรัฐฯ ในหลายเดือนข้างหน้า" ภายใต้เพดานหนี้ $36.1 ล้านล้าน เทียบกับสถานการณ์กู้ยืมในปัจจุบัน ณ 16 ม.ค. ที่ $36.08 ล้านล้าน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับเอกสารเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. ที่ทางกระทรวงการคลังได้ประเมินว่าอาจมีการใช้มาตรการพิเศษในช่วงระหว่างวันที่ 14-23 ม.ค. ซึ่งการดำเนินการจะระงับการลงทุนใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในทันทีเพื่อจ่ายสวัสดิการจากกองทุนบำนาญข้าราชการและกองทุนสวัสดิการสุขภาพผู้เกษียณจากบริการไปรษณีย์ และเมื่อเพดานหนี้ได้รับการปรับเพิ่มหรือระงับ กองทุนเหล่านี้จะต้องได้รับการชำระเงินคืนทั้งหมด
- IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3%ในปี 2025F เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1%จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้มีการปรับเพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.7%จากเดิมที่ 2.2% จากอุปสงค์พื้นฐานยังคงมีความแข็งแกร่ง สะท้อนถึงผลกระทบเชิงบวกจากความมั่งคั่ง นโยบายการเงินที่ไม่เข้มงวดมากนัก และสภาวะการเงินที่เอื้ออำนวย ขณะที่ได้มีการหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซนลงมาที่ 1.0% จากเดิมที่ 1.2%เนื่องจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม แรงฉุดจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่น และโมเมนตัมที่อ่อนแอกว่าที่คาดโดยเฉพาะภาคการผลิต รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่เพิ่มขึ้น
ด้านเศรษฐกิจจีน IMF ประมาณการว่าจะเติบโตดีขึ้นจากเดิมเล็กน้อย มาอยู่ที่ระดับ 4.6% (vs. เดิม 4.5%) ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ ทางการจีนได้รายงานว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวดีกว่าคาดในไตรมาสสี่ เติบโต 5.4%YoY เทียบกับตลาดคาดที่ 5.0% และไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.6% อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจของ Bloomberg consensus พบว่า นักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยยังคงคาดการณ์ GDP ที่ 4.5% ไว้เช่นเดิมนับตั้งแต่ทางการจีนมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ในช่วงปลายเดือน ก.ย.
- ติดตามประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้
1) นโยบายสำคัญที่ว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะเร่งดำเนินการหลังเข้าพิธีสาบานตนในวันนี้ (20 ม.ค.) ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีการพิจารณานโยบายที่อยู่ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้าและภาษีนำเข้า (เช่น ปรับขึ้นกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งมีความหวังว่าอาจปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอัตรา 2-5% ต่อเดือน จากรายงานข่าวที่เคยออกมาก่อนหน้านี้), ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม (เช่น เร่งออกใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ), ด้านการปราบปรามผู้อพยพ (เช่น ส่งกลับผู้อพยพ ซึ่ง Trump ได้แสดงความเห็นว่า จะมีการขับไล่ชาวต่างชาติที่ผิดกฎหมายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หลังการเข้ารับสาบานตนทันที) ด้านการมีอิทธิพลเหนือธนาคารกลาง (เช่น การเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ) และด้านภาษีธุรกิจ (เช่น การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล)
2) การประกาศอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate (LPR) ในเช้าวันจันทร์ของจีนซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะ 1 ปี (อ้างอิงสำหรับสินเชื่อบุคคลและธุรกิจ) และ 5 ปี (อ้างอิงสำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์) ที่ระดับ 3.1% และ 3.6% ตามลำดับ เนื่องจากทางการจีนอาจให้น้ำหนักในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น หลังจากค่าเงินหยวนมีการอ่อนค่าขึ้นมาเร็ว และสอดรับกับก่อนหน้าที่ PBoC ได้มีการประกาศหยุดซื้อพันธบัตรรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งน่าจะเป็นการลดแรงกดดันต่อการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งลดแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น
3) การประชุม BoJ ซึ่งตลาดการเงินมีการเปลี่ยนมุมมอง และให้น้ำหนักกว่า 80% ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ในการประชุมวันที่ 24 ม.ค. นี้ หลังรายงานตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ อาทิ ผลสำรวจมุมมองรายภูมิภาค (Regional Economic Report) ที่ส่วนใหญ่บ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและค่าแรงในระดับปานกลาง, ตัวเลข Cash Earnings ล่าสุดทั้งในรูปตัวเงิน (Nominal) และหักออกด้วยเงินเฟ้อ (Real) ขยายตัวดีกว่าที่ตลาดคาด และการแสดงความเห็นของ Himino Ryozo รองผู้ว่าฯ BoJ ที่ได้เน้นย้ำว่าธนาคารกลางอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้เป็นไปตามคาด ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากประเด็นดังกล่าว ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะเป็นแรงหนุนต่อหุ้นกลุ่มธนาคารในญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มการบริโภคที่จะได้แรงหนุนจากภาวะตลาดแรงงานและกำลังซื้อในประเทศที่ดีขึ้น
4) รายงานผลประกอบการฯ ในสัปดาห์นี้ อาทิ United Airlines (21 ม.ค.) และ Netflix (22 ม.ค.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นที่เราชอบภายใต้ธีม Travel, Leisure และ Entertainment จากแรงหนุนของการจ้างงานและกำลังซื้อที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค รวมทั้งการเดินทางในสหรัฐฯ ที่ยังมีโมเมนตัมบวก (ข้อมูลเพิ่มเติม ASPS Global Strategy Weekly ฉบับ 13 ม.ค. 2025) โดย Bloomberg consensus คาดว่า United Airlines จะรายงานกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น 52% YoY จาก -9% ไตรมาสก่อน และราคาปัจจุบันมี Upside +18.6% ขณะที่ประเมินว่าNetflix จะเผยการเติบโตดังกล่าวที่แข็งแกร่งในระดับสองหลักต่อเนื่อง (+84% YoY vs. ไตรมาสก่อน +49%) และราคาปัจจุบันมี Upside +8.4% โดยฝ่ายกลยุทธ์ฯ แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร”จากผลประกอบการที่คาดว่าจะออกมาดี (UAL US แนวรับ $101/$90 แนวต้าน $114/$120 Stoploss $88, NFLX US แนวรับ $807/$764แนวต้าน $941/$987 Stoploss $749)
ทั้งนี้ บริษัท 42 จาก 500 แห่งในดัชนี S&P500 (ณ 17ม.ค.) ได้มีการรายงานผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งภาพรวมไตรมาสล่าสุดออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด (ยอดขายและกำไรสุทธิดีกว่าตลาดคาด 1.5 % และ 9.7% ตามลำดับ) ส่วนหนึ่งจากกลุ่มสถาบันการเงิน (1 ใน 5 Sector ที่เราชอบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมใน ASPS Global Strategy Weekly ฉบับ 23 ธ.ค. 2024) รายงานผลประกอบการออกมาแข็งแกร่ง โดยเราชอบสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ได้แก่ JP Morgan, Citigroup และ Goldman Sachs
ฝ่ายกลยุทธ์ฯ มองว่าสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสฟื้นตัวในสัปดาห์นี้จากประเด็นเชิงบวกหลัง การสนทนาระหว่าง Trump และ Xi เป็นไปในเชิงบวก การรับรู้โอกาสการคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในเดือน ม.ค. ไปมากแล้ว ประกอบกับแรงหนุนจากผลประกอบการกลุ่มสถาบันการเงินที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด โดยมองว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับรายงานผลประกอบการที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น
- รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสัปดาห์นี้: ญี่ปุ่น Industrial Production (พ.ย.), Exports (ธ.ค.), CPI (ธ.ค.) และ PMI Composite (ม.ค.) จีน Loan Prime Rate (20ม.ค.) ยูโรโซน ZEW Survey Expectations (ม.ค.), Consumer Confidence (ม.ค.) และ PMI Composite (ม.ค.) สหรัฐฯ Philadelphia & Kansas Fed Activity (ม.ค.), U of Michigan Sentiment (ม.ค.) และ PMI Composite (ม.ค.)