ครั้งแรกของโลก!! วัคซีนรักษาอัลไซเมอร์ พบประสิทธิภาพสูงและช่วยฟื้นฟูความจำ
อัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นปัญหาของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทว่า ล่าสุดนักวิจัยเผยหนทางการเอาชนะโรคร้ายนี้ ด้วยวัคซีนที่พัฒนาขึ้นใหม่แล้ว !!
บางคนอาจจะบอกว่าอัลไซเมอร์เองเป็นเพียงการสูญเสียความทรงจำ เพียงแค่หลง ๆ ลืม ๆ คงไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่โรคนี้ยังส่งผลพถึงพฤติกรรมและการสูญเสียความทรงจำที่รุนแรง นอกจากจะลืมเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนกระทั่งลืมวิธีรับประทานอาหาร หรือวิธีขับถ่าย จนส่งผลให้มีโรคต่าง ๆ ตามมา เป็นต้นว่าหากลืมวิธีรับประทานอาหาร ผู้ป่วยอาจสำลักอาหารจนเกิดเป็นปอดบวมรุนแรงได้
นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา ซึ่งผู้ดูแลก็อาจมีสุขภาพจิตแย่ลงได้จากการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพรายวัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่วอัลไซเมอร์มิได้ส่งผลกระทบแค่เพียงตัวผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อคนรอบข้างและผู้ดูแลอีกด้วย
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์, มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน และองค์กร LifeArc ร่วมกันพัฒนาวัคซีนที่สามารถยับยั้งและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยออกฤทธิ์ละลายโปรตีนอไมลอยด์เบต้า (Amyloid beta protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และนำพาให้เกิดการเสื่อมถอยของเซลล์ประสาท
นักวิจัยกล่าวว่ายาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงชะลอให้โรคเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นการรักษาเพียงแค่ปลายเหตุ ไม่ได้กำจัดสาเหตุหลักอย่างโปรตีนอไมลอยด์ ซึ่งการพัฒนาวัคซีนนี้อาศัยแอนติบอดีที่พบในหนู แอนติบอดีหรือสารในระบบภูมิคุ้มกันนี้ สามารถละลายโปรตีนอไมลอยด์ได้ แต่ไม่จับกับโปรตีนปกติในสมอง
เมื่อได้แอนติบอดีแล้ว นักวิจัยปรับปรุงให้วัคซีนอยู่ในรูปที่พร้อมใช้งานในมนุษย์ โดยแอนติบอดีดังกล่าวถูกเรียกว่า TAP01_04 เมื่อนำไปใช้ในหนูทดลองอีกครั้ง ปราฏว่าแอนติบอดีนี้ไม่เพียงแต่ละลายโปรตีนอไมลอยด์เบต้าที่ผิดรูปได้ แต่ยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้จดจำและสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนอไมลอยด์เบต้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ในการศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่าวัคซีนยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูเซลล์ประสาท, ฟื้นฟูความจำ และลดการสร้างโปรตีนอไมลอยด์เบต้าที่ผิดปกติได้
และนี่คือวัคซีนอัลไซเมอร์ที่แสดงผลสัมฤทธิ์ได้เป็นครั้งแรก และมีโอกาสที่จะพัฒนามาใช้เป็นวัคซีนในมนุษย์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering