Google ทดสอบเครื่องมือ AI สำหรับเขียนข่าวเองได้แบบอัตโนมัติ
มีรายงานว่า กูเกิล (Google) กำลังทดสอบการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ที่สามารถช่วยเขียนบทความข่าวได้ โดยตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับองค์กรข่าวต่าง ๆ เพื่อทดสอบใช้เครื่องมือดังกล่าว ในการช่วยเหลือการทำงานของนักข่าว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางโฆษกของกูเกิล ยังไม่ได้ออกมาระบุว่าองค์กรข่าวที่บริษัทได้นำเสนอบริการเครื่องมือตัวนี้ไปคือที่ใดบ้าง แต่จากรายงานของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ (New York Times) ระบุว่ากูเกิลได้เข้าไปหารือกับสื่อใหญ่ในต่างประเทศ เช่น วอชิงตันโพสต์ (Washington Post), เดอะวอลล์ สตรีท เจอนัล (the Wall Street Journal) และแม้กระทั่งนิวยอร์กไทม์เอง
ซึ่งจากการรายงานระบุว่า เครื่องมือเอไอ ที่มีชื่อเรียกภายในว่า เจเนซิส (Genesis) ตัวนี้ จะสามารถช่วยงานของนักข่าว ด้วยการนำเสนอตัวเลือกสำหรับพาดหัวข่าว หรือแนะนำรูปแบบการเขียนข่าวแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยปรับปรุงงานและประสิทธิภาพในการเขียนข่าวให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ตัวเครื่องมือยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการสำรวจตลาด เพื่อทำการเก็บข้อมูลและพัฒนาต่อยอดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางโฆษกย้ำว่า แนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือตัวนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อมาแทนที่บทบาทของนักข่าวแต่อย่างใด เพราะในการรายงานข่าวต่าง ๆ นักข่าวก็ถือว่าเป็นบุคคลากรที่สำคัญในการผลิตข่าว เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในการรับผิดชอบ สร้างสรรค์เนื้อหาข่าว และตรวจสอบข้อเท็จจริงบนบทความข่าวที่พวกเขาทำขึ้น ดังนั้นการมีอยู่ของเครื่องมือตัวนี้ จะเป็นเพียงตัวช่วยให้นักข่าวสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ซึ่งข่าวการทดสอบเครื่องมือเอไอสำหรับนักข่าวนี้ เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ แอสโซซิเอส เพรส (Associated Press) องค์กรข่าวไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะร่วมมือกับบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) เจ้าของปัญญาประดิษฐ์แชตจีพี (CahtGPT) เพื่อสำรวจการใช้เจนเนอเรทีฟ เอไอ (generative AI) หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์มาใช้ในการทำข่าว
นอกจากวงการข่าวแล้ว ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหลายอุตสาหกรรม เริ่มนำเอาปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ มาใช้กับการผลิตสื่อของตนมากขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมข่าวแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องปรับใช้ไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องการสร้างข้อมูลจากเอไอที่ผิดพลาด ตลอดจนความท้าทายในการแยกความแตกต่างระหว่างเนื้อหาที่ผลิตโดยมนุษย์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะสร้างความเข้าใจผิดได้ในวงกว้าง
ข้อมูลจาก sea.mashable, theverge, indianexpress