รีเซต

“โรคฝีดาษลิง” เปิดรายชื่อ 3 จังหวัด เสี่ยงระดับสีแดง

“โรคฝีดาษลิง” เปิดรายชื่อ 3 จังหวัด เสี่ยงระดับสีแดง
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2566 ( 09:05 )
172

วันนี้ ( 21 ส.ค. 66 )นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ โรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพ็อกซ์ ในไทย ว่าพบการติดเชื้อฝีดาษลิงใน 19 จังหวัด โดยมี 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงคือ กทม. 136 คน  นนทบุรี 14 คน ชลบุรี 9 คน ระดับสีส้มมี 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ 9 คน  ภูเก็ต 8 คน  ปทุมธานี 7 คน และสีเหลือง 13 จังหวัด คือ ระยองสมุทรสาคร ลพบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น พะเยา นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา 


ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น ไปสัมผัสผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง แล้วรับเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ที่ตอนนั้นอาจจะมีผิวแตก หรือเป็นแผล ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ถือว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้


ตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 – เมษายน 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่ง แต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบ ร้อยละ 100 ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศ 


อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลมาก หากไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสติดเลย อย่างช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ไม่มีผู้หญิงติดเชื้อเลย มีแต่ผู้ชายที่มีความเสี่ยงทางเรื่องเพศ เพราะจากการสอบสวนโรคพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย


ส่วนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตรายแรกในไทย พบติดเชื้อฝีดาษวานร และเอชไอวี นั้น น่าจะเป็นสาเหตุร่วมกัน เพราะผู้เสียชีวิตไม่เคยรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน เลยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา เพิ่งมารู้ตอนที่ติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์แล้ว ดังนั้นภูมิคุ้มกันเลยต่ำมาก 


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงในกลุ่มเสี่ยงที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงไม่น่าห่วงนัก โดยพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือ กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเยอะ ดังนั้นขอให้ลดพฤติกรรมเสี่ยง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เชื้อกำลังเพิ่ม ถ้าลดพฤติกรรมเสี่ยงก็จะทำให้ปลอดภัย 


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -15 สิงหาคม 2566 มีผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ 217 คน เป็นชาวต่างชาติ 30 คน  คนไทย 187 คน อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20 - 64 ปี จำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย อายุ 34 ปี มีการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับการรักษา 


ภาพจาก : AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง