รีเซต

‘โตเกียวโอลิมปิก’ เป็นไปได้ หรือต้องพึ่งปาฏิหาริย์

‘โตเกียวโอลิมปิก’ เป็นไปได้ หรือต้องพึ่งปาฏิหาริย์
TNN ช่อง16
28 มกราคม 2564 ( 14:59 )
183
‘โตเกียวโอลิมปิก’ เป็นไปได้ หรือต้องพึ่งปาฏิหาริย์

สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิกฤดูร้อน ต้องเลื่อนกำหนดจากปีที่แล้ว มาเปิดม่านวันที่ 23 กรกฎาคมปีนี้

แต่คำถามสำคัญคือญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพ จะจัดการแข่งขันไปได้อย่างไร ในเมื่อวิกฤตโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด คนเสียชีวิตไปแล้ว 2 ล้านคนทั่วโลก ผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ล้านคน ญี่ปุ่นเองกำลังเผชิญกับการพุ่งสูงของผู้ติดเชื้อระลอกสามอีกด้วย

แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยืนกรานว่า การจัดโอลิมปิกในญี่ปุ่น จะเดินหน้าต่อไป

“หน้าที่ของเราคือการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ใช่มายกเลิก” โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

เป็นไปได้หรือที่ญี่ปุ่นจะพานักกีฬากว่า 1 หมื่น 1 พันคนจาก 200 ประเทศ เข้ามาในประเทศ แล้วปกป้องพวกเขาให้ปลอดภัยจากโควิด-19

เป็นไปได้หรือที่จะพาทัพนักกีฬาเหล่านี้ จากประเทศที่เผชิญภาวะการระบาดของโรคที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการปิดประเทศและคำสั่งห้ามเดินทาง

การแข่งขันอัลติเมทไฟต์ติงแชมเปียนชิพ หรือ ยูเอฟซี, การแข่งขันเอ็นบีเอ หรือสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ, การแข่งขันฟุตบอล และกีฬาอื่นๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นหลักฐานว่า จัดการแข่งขันกีฬาอย่างปลอดภัยได้

แต่นั่นเป็นเพียงกีฬาชนิดเดียว ในระยะเวลาสั้น ๆ  อย่าลืมว่าโอลิมปิก แข่งขันมากกว่า 300 ชนิดกีฬา สนามแข่งขันหลายสิบจุด ไม่นับกองทัพสื่อมวลชนอีกหลายหมื่นคน ที่จะเข้าไปเก็บภาพและทำการรายงานด้วย

คณะกรรมการโอลิมปิกสากลชี้ว่า จะใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อให้โอลิมปิกเดินหน้าไปได้ ส่วนจะให้มีผู้ชมในสนามหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาสถานการณ์อีกที

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ความเสี่ยงมีมากกว่าโอกาสที่จะเป็นเจ้าภาพได้อย่างลุล่วง ลองจินตนาการว่า หากมีนักกีฬาติดโควิด-19 เพียงคนเดียว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง การแข่งขันจะกระทบแค่ไหน

เราลองคาดการณ์มาตรการต่างๆ เทียบเคียงกับการจัดการแข่งขันภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า น่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างแรก การเดินทางมาถึงของนักกีฬา / ในการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่นนั้น นักเทนนิส 250 ชีวิต ต้องกักตัว 14 วัน มีเวลา 5 ชั่วโมงต่อวันเพื่อฝึกซ้อมกลางแจ้งในสถานที่พิเศษที่จะไม่แพร่เชื้อโรค แต่หากเที่ยวบินที่นักกีฬาเดินทางมานั้น พบว่ามีผู้ป่วยโควิดเดินทางมาด้วย นักกีฬาจะไม่สามารถออกจากห้องได้เลย

พิธีเปิดและพิธีปิด จะถูกลดขนาดลง หนังสือพิมเจแปนไทม์สชี้ว่า น่าจะมีคนเข้าร่วมเพียง 6 พันคน ขณะที่ มาตรการควบคุมโควิด-19 ยังหมายความว่า นักกีฬาจะไม่ได้ไปเยี่ยมชมเมือง สังสรรค์ในหมู่บ้านนักกีฬา และจำกัดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนให้มากที่สุด

อีกข้อเป็นห่วงคือ ประสบการณ์ที่แฟนกีฬาจะได้รับ จนถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นจำหน่ายบัตรเข้าชมไป 4 ล้าน 4 แสน 5 หมื่นใบในประเทศ และอีก 1 ล้านใบสำหรับคนจากต่างประเทศ แน่นอน รัฐบาลยืนกรานว่าจะคืนเงินให้กับผู้ที่เข้าชมการแข่งขันไม่ได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า ญี่ปุ่นปิดประเทศไม่รับชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในตอนนี้ และยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดประเทศเมื่อไหร่

แต่หากเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาได้จริง สื่อท่องถิ่นรายงานว่า แต่ละคนต้องมีหลักฐานว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 และยอมใช้แอพพลิเคชันติดตามตัว

ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อเกือบ 3 แสน 8 หมื่นคน และเสียชีวิตเกือบ 5 พัน 400 คน การแจกจ่ายวัคซีนก็ถือว่าช้ากว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ อย่าง สหรัฐฯ จีน และสหราชอาณาจักร จึงไม่แปลกที่คนญี่ปุ่นจะเกิดความกังวล ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นจัดทำโดยสถานีข่าวเอ็นเอชเค ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นถึง 77% คิดว่าควรยกเลิกหรือเลื่อนจัดโอลิมปิกไปก่อน

การเลื่อนอาจไม่เท่าไหร่ แต่หากยกเลิก นั่นจะกระทบต่อศักดิ์ศรีและสถานะทางการเงินของญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะญี่ปุ่นทุ่มเงินไปกว่า 7 แสน 5 หมื่นล้านเพื่อเตรียมงาน ถือเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนที่ราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นมหกรรมกีฬาที่อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หวังจะแสดงให้โลกเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น หลังพ่านพ้นภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011

แต่หากโอลิมปิกครั้งนี้ยกเลิกจริง คนเสียใจที่สุด คงเป็นตัวนักกีฬาเองที่ฝึกซ้อมมาอย่างหนัก บางคนโอลิมปิกครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งเดียวและอาจเป็นครั้งสุดท้ายก็เป็นได้ เพราะผลสำรวจพบว่า นักกีฬาโอลิมปิก 70% ไม่ได้โอกาสแข่งขันในโอลิมปิกครั้งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง