สหรัฐฯ - จีนเตรียมจับมือแบนติดตั้ง AI ในอาวุธอัตโนมัติ เพื่อสันติภาพโลก
TNN ช่อง16
18 พฤศจิกายน 2566 ( 12:36 )
66
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พร้อมที่จะให้คํามั่นสัญญาว่าจะห้ามติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอาวุธอัตโนมัติเพื่อสันติภาพโลก โดยการประชุมนี้ซึ่งจะจัดขึ้นนอกรอบของการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) 2023 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน ถือเป็นการที่ 2 ผู้นําประเทศมหาอำนาจโลกจะมาพบปะกันแบบซึ่งหน้าครั้งแรกในรอบหนึ่งปี
หนึ่งในผลลัพธ์ที่ได้รับการคาดหวังอย่างมากจากการประชุมนี้ซึ่งเน้นเรื่องการทหารและการพัฒนาสันติภาพโลก คือข้อตกลงในการห้ามติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอาวุธอัตโนมัติ เช่น โดรน รวมถึงห้ามใช้เพื่อควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ โดยหนังสือพิมพ์เดอะ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (The South China Morning Post) รายงานว่าประธานาธิบดีทั้งสองพร้อมที่จะประกาศความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์นี้ในระหว่างการประชุมสุดยอดดังกล่าว
ทั้งนี้ ความท้าทายด้าน AI เป็นเรื่องที่น่ากังวลสําหรับทั้งสองมหาอำนาจ เมื่อต้นปีนี้ สหรัฐอเมริกาได้นำเสนอปฏิญญาทางการเมือง (Political declaration) เกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการทหารอย่างมีความรับผิดชอบโดยมี 36 ประเทศสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้
เมื่อเดือนตุลาคม รัฐบาลของไบเดนได้ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ในการสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ขั้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำมาใช้ภายใต้วัตถุประสงค์ที่เป็นอันตราย เช่น การสร้างอาวุธชีวภาพผ่านการรับรองของรัฐบาลกลาง เป็นต้น
ส่วนจีนก็มีความก้าวหน้าอย่างมากในด้าน AI เช่นกัน โดยประธานาธิบดีสีปฏิญาณว่าจะส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดนี้ โดยเน้นที่ AI เป็นพิเศษ ขณะที่กองทัพจีน (PLA) ได้พัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารสมัยใหม่ที่ใช้ประโยชน์จาก AI มาหลายปีแล้ว
แม้สหรัฐอเมริกาและจีนจะมีความเห็นตรงกันแล้ว แต่ความร่วมมือนี้ยังคงมีอุปสรรคบางประการ อาทิ มีรายงานว่าแถลงการณ์ร่วมของสองมหาอำนาจยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากยังคงมีความเห็นไม่ตรงกันด้านภาษาในประเด็นความขัดแย้งของยูเครนและของอิสราเอล อย่างไรก็ดี โลกยังคงมีความหวังว่านี่จะเป็นความคืบหน้าในการแก้ไขความท้าทายและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
ที่มาข้อมูล interestingengineering
ที่มาของรูปภา Reuters