Human Zoo เมื่อมนุษย์ถูกเอามาจัดแสดง ความบันเทิงจากการด้อยค่า

เอามนุษย์มาจัดแสดงให้คนได้ดู ทำคอนเทนต์ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์ด้วยกันรู้สึกกลายเป็นคอนเทนต์ ล้วนแต่เป็นแนวคิดของ Human Zoo หรือสวนสัตว์มนุษย์
ซึ่งแม้ปัจจุบัน จะไม่มีสวนสัตว์แบบนี้อยู่จริงๆ แล้ว แต่คอนเซ็ปต์ และแนวคิดของสวนสัตว์มนุษย์นี้ ก็เป็นมรดกมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม และยังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ตาม
HUMAN ZOO ความบันเทิงที่มาจากการถูกด้อยค่า
นิยามของคำว่า "สวนสัตว์มนุษย์" หรือ Human Zoo มีความหมายที่ค่อนข้างตรงตัวว่าการจัดแสดงมนุษย์ในลักษณะเดียวกับสัตว์ในสวนสัตว์ โดยจริงๆ แล้วแนวคิดนี้ ถูกมองว่าเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน โดยเฉพาะในยุคอานานิคม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เริ่มตั้งแต่ ที่โคลัมบัส พาชาวอินเดียนแดง เดินทางไปโชว์ยังราชสำนักสเปน ในปี 1493
แต่หลังจากนั้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 18-20 นิยามของสวนสัตว์มนุษย์มีให้เห็นในตะวันตกมากขึ้น และอย่างแพร่หลาย ที่อดีตของสังคมตะวันตกราวมักนำกลุ่มชนพื้นเมืองหรือผู้ที่มีลักษณะแตกต่างจากมาแสดงในสภาพแวดล้อมจำลอง เพื่อเน้นความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติ การปฏิบัติเช่นนี้สะท้อนถึงการเหยียดเชื้อชาติและการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจัดแสดงเพื่อสร้างความบันเทิงและยืนยันความเหนือกว่าของวัฒนธรรมตะวันตก
และ Human Zoo หรือการแสดงที่ถูกมองว่าเป็นสวนสัตว์มนุษย์ช่วงแรกๆ คือ ซาร์ตจี บาร์ตแมน (Saartjie Baartman) สมาชิกเผ่า Namaqua ของแอฟริกา ที่รู้จักกันดีในชื่อ "Hottentot Venus" ซึ่งเธอถูกจัดแสดงในลอนดอนจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1815 จากนั้นร่างของเธอยังถูกจัดแสดงที่ Musee de l'Homme ในปารีสจนถึงปี 1974
นอกจากนี้นิทรรศการมนุษย์ต่อสาธารณะงานแรกๆ เอง ยังมีคนไทยที่ถูกจัดแสดงโชว์ด้วย คือ คืองานนิทรรศการของ จอยซ์ เฮธ ในปี 1836 ที่จัดแสดงแฝดสยามที่ตัวติดกัน ‘อินจันทร์’ ซึ่งถือว่าเป็นเคสที่หายาก และคนในยุคนั้นก็เกิดความอยากรู้อยากเห็น แม้ว่าแฝดสยามจะไม่ได้ถูกมองในด้านการเหยียดเชื้อชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวตะวันตก และชาวอเมริกัน สนใจที่ความแปลกในการที่แฝดคู่นี้มีตัวที่ติดกัน
สวนสัตว์มนุษย์ต่างถิ่นได้รับความนิยมในหลายประเทศในช่วงทศวรรษปี 1870 สวนสัตว์มนุษย์สามารถพบได้ในเมืองฮัมบูร์ก แอนต์เวิร์ป บาร์เซโลนา ลอนดอน มิลาน นิวยอร์ก วอร์ซอ โดยมีผู้เข้าชมนิทรรศการแต่ละครั้งประมาณ 200,000 ถึง 300,000 คน
คอนเซ็ปต์สวนสัตว์มนุษย์ ‘การด้อยค่า’ ที่ยังคงมีมาถึงปัจจุบัน
นักวิจัยวิเคราะห์ว่า แม้ว่าในปัจจุบัน จะไม่มีสวนสัตว์มนุษย์ที่จัดแสดงโชว์อย่างโจ่งแจ้งแล้ว แต่คอนเซ็ปต์นี้กลับยังคงมีอยู่ในสังคม แนวคิดสวนสัตว์มนุษย์ เดิมมาจากทฤษฎีเกี่ยวกับ “ลำดับชั้นของเผ่าพันธุ์” และการสร้างอาณาจักรอาณานิคม และปัจจุบัน ในฝั่งตะวันตก ยังมีแนวคิดเรื่องการเหยียดคนผิวดำ ชนเพื่อนเมือง โดยมีความเป็นคนผิวขาวเป็นศูนย์กลาง และปูทางไปสู่การเหยียดเชื้อชาติ
และในขณะที่รูปแบบของสวนสัตว์จริงๆ นั้นไม่ได้มีให้เห็นแล้ว แต่ในโลกยุคดิจิทัลรูปแบบยังเปลี่ยนไปเป็นการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่มีเนื้อหากดขี่ ด้อยค่าคน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เราก็ได้เห็นจากกรณีของแบงค์ เลสเตอร์ ที่เสียชีวิตในปลายปี 2567 และเคยถูกเป็นตัวหลักของคอนเทนต์ ให้ทำการกระทำต่างๆ ที่ถูกด้อยค่า มาจนถึงล่าสุด ที่มีไวรัลร้านกาแฟแห่งหนึ่ง จัดพื้นที่ให้แรงงานนั่งทำงาน โดยชี้ว่าเป็นการให้เห็นวิถีชีวิต ในขณะที่ให้ลูกค้าได้เข้ามานั่งจิบกาแฟชม จนมีการมองว่าเป็น Human Zoo ในยุคปัจจุบัน
TNN Online ได้สัมภาษณ์ ดร.ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ อาจารย์หลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( มศว ) ตั้งแต่กรณีของแบงต์ เลสเตอร์ถึงการมองคอนเทนต์ลักษณะ "human zoo" ว่าคือ การทำคอนเทนต์ในลักษณะที่ดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในมุมของคนสร้างสรรค์คอนเทนต์ทุกวันนี้ต้องมีความพยายามสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อแข่งขันคอนเทนต์ที่มีจำนวนมหาศาล ก็ต้องพยายามคิดค้นคอนเทนต์ที่มันแปลกแตกต่าง และที่สําคัญคือตรงใจคนดู เพราะจำนวนยอดวิวหรือยอดคนดูในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นำมาซึ่งรายได้ ฉะนั้นยิ่งยอดวิวเยอะ ยิ่งเป็นกระแสเยอะ คนมาดูเยอะก็นําไปสู่รายได้จำนวนมากตามมา
ดร.ยุคลวัชร์ ย้ำว่าปัจจุบันในโลกสากลให้ความสำคัญมากในเรื่องของความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ การเหยียดเพศ สีผิว ชาติกำเนิด หรือ แม้แต่ความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ ตลอดจนร่างกาย ทั้งหมดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นานาชาติเลิกเอามาทำเป็นเรื่องสนุกกันแล้ว แม้สังคมไทยจะเริ่มมีการตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมมากขึ้นแล้ว แต่ยังพบบางคอนเทนต์ที่มีการนำเรื่องความตลกบนความทุกข์ของผู้อื่นมาสร้างความบันเทิงอยู่บ้าง
และเพราะปัจจุบัน ไม่ได้มีการใช้คำว่าสวนสัตว์โดยตรง แต่การพยายามหาอะไรที่มันแปลกแตกต่างโดยบางครั้งลืมไปถึงเรื่องของความเหมาะสม และอาจลืมนึกไปได้ว่า การครีเอทีฟ หรือคอนเทนต์บางอย่าง จะกลายเป็น Human zoo ได้ ซึ่งอาจารย์ก็มองว่า
“คอนเทนต์ลักษณะ Human zoo ในความเห็นส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับว่าคอนเทนต์ที่เสนอออกเป็นการละเมิดจิตใจ ความรู้สึก ความปลอดภัยทางร่างกายหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทําก็อาจจะมองได้ว่าเป็น Human Zoo ได้”
ย้อนอ่านคดี แบงค์ เลสเตอร์ https://www.tnnthailand.com/tnnexclusive/184778/