รีเซต

สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ภารกิจลูซี่ครบรอบการปล่อยตัวปีแรก

สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ภารกิจลูซี่ครบรอบการปล่อยตัวปีแรก
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2565 ( 14:11 )
46

ยานอวกาศลูซี่ (Lucy Spacecraft) ที่มีความกว้าง 46.75 ฟุต หรือ 14.25 เมตร และความสูง 23.6 ฟุต หรือ 7.2 เมตร ของภารกิจลูซี่ (Lucy Mission) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2021 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan Asteroids) ที่ไม่เคยมียานอวกาศลำไหนไปถึงมาก่อน ซึ่งด้วยแรงกระตุ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลก ยานอวกาศลูซี่จะเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์น้อยได้ถึง 8 ดวง ในระยะเวลา 12 ปี


โดยดาวเคราะห์น้อยโทรจันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เทียบเท่ากับระยะห่างของดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดี อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยโทรจันมีสารประกอบคาร์บอนสีเข้มที่ปกคลุมด้วยฝุ่นจำนวน และอาจอุดมไปด้วยน้ำและสารระเหยอื่น ๆ 


กลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน 

ซึ่งดาวเคราะห์น้อยโทรจันที่ยานอวกาศลูซี่จะเดินทางไปสำรวจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แอล4 โทรจัน (L4 Trojans) และแอล5 โทรจัน (L5 Trojans) โดยจะแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ ชนิดซี (C Type), ชนิดพี (P Type) และชนิดดี (D Type) ซึ่งชนิดดีและชนิดพีมีลักษณะเป็นสีแดงเข้มคล้ายกับที่พบในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ในขณะที่ชนิดซีส่วนใหญ่จะพบในส่วนนอกของแถบหลักของดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี


รูปแบบการโคจรของยานอวกาศลูซี่ 

โดยยานอวกาศลูซี่จะไปบินผ่านดาวเคราะห์น้อยโทรจันในกลุ่มแอล4 แล้ววนกลับมายังโลกและเข้าสู่ชั้นบรรยากาศระดับสูง เพื่ออาศัยแรงส่งจากแรงโน้มถ่วงของโลกในการเหวี่ยงยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยโทรจันในกลุ่มแอล5 และจะโคจรรูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลา 12 ปี โดยล่าสุดยานโคจรกลับมาเข้าใกล้โลกในวันที่ 16 ตุลาคม 2022 วันเดียวกับตอนปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีก่อน ระดับความสูงประมาณ 350 กิโลเมตรจากพื้นโลก

อย่างไรก็ตามลักษณะการโคจรตลอดภารกิจของยานอวกาศลูซี่มีความเสี่ยงในการชนกับดาวเทียมในชั้นบรรยากาศระดับสูงของโลก อีกทั้งการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอาจทำให้ยานอวกาศไม่สามารถต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลกและตกลงสู่พื้นโลกได้ ดังนั้นยานอวกาศลูซี่จึงจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เพื่อเปิดใช้ในกรณีที่มันจะชนเข้ากับดาวเทียมหรือตกลงสู่พื้นโลก


ข้อมูลจาก www.space.com

ภาพจาก www.nasa.gov

ข่าวที่เกี่ยวข้อง