นักวิจัยเผยใช้ซากสิ่งมีชีวิตศึกษาลักษณะการตกของวัตถุนอกโลกได้
ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) เป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าอุกกาบาต (Meteorite) ที่เคยพุ่งชนโลกมาก่อนเมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งทิ้งร่องรอยเป็นหลุมลักษณะแบบปากปล่องภูเขาไฟ (Crater) เอาไว้ แต่แม้ว่าจะมีร่องรอยทิ้งไว้อย่างชัดเจน นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงไม่สามารถเข้าใจกระบวนการ และลักษณะการตกที่ชัดเจนได้มากนัก แต่ล่าสุดมีกลุ่มนักวิจัยที่บอกว่าทั้งหมดนี้สามารถสืบสวนย้อนกลับไปได้ด้วยซากสิ่งมีชีวิตที่โดนดาวเคราะห์น้อยเล่นงานในอดีต
นักวิจัยจากสภาการวิจัยแห่งเอสโตเนีย (Estonian Research Council) ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เสนอการใช้ร่องรอยความเสียหายจากซากสิ่งมีชีวิตในการวิเคราะห์สภาพการตกของดาวเคราะห์น้อยแบบย้อนกลับ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการใช้ร่องรอยบาดแผลเพื่อระบุประเภทและลักษณะการใช้อาวุธในที่เกิดเหตุอาชญากรรม (Crime Scene Investigation)
ในงานวิจัยระบุว่าพบความคล้ายคลึงของโครงสร้างผลึกทางเคมีของถ่านรอบ ๆ ปากปล่อง (Crater) จากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่เอสโตเนีย 2 จุด โปแลนด์ และแคนาดา อย่างละ 1 จุด รวมเป็น 4 จุดสำรวจ โดยเริ่มแรกนักวิจัยได้ตั้งสมมติฐานว่าอาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ตายลงกะทันหันในการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย แต่ความคล้ายคลึงของสารและผลึกที่พบทั้ง 3 ประเทศ 4 จุดสำรวจ ในระดับมิลลิเมตร มีสสารที่ไม่สามารถพบได้ในท้องถิ่นเมื่อเทียบกับพื้นที่โดยรอบหลุม ดังนั้น ความเป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียวคือโครงสร้างพิเศษของถ่านหินเหล่านี้เกิดขึ้นจากการโดนชนด้วยดาวเคราะห์น้อย
ในอีกนัยหนึ่งหมายความว่า ลักษณะการตายของสิ่งมีชีวิตที่ตายลงด้วยดาวเคราะห์น้อยจะแตกต่างจากการตายด้วยปัจจัยอื่น ๆ และหากสำรวจบริเวณโดยรอบปากปล่อง (Crater) ก็อาจจะพบรูปแบบความเสียหายอื่น ๆ นอกจากการกระแทกโดยตรง เพื่อวิเคราะห์ความรุนแรงของดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุจากนอกโลกที่พุ่งชนได้
การค้นพบนี้มีลักษณะการทำงานแบบเดียวกับการตรวจสอบสภาพศพในที่เกิดเหตุอาชญากรรมของตำรวจ ที่จะตรวจสอบบาดแผลศพเพื่อระบุประเภทอาวุธ และลักษณะการใช้งาน เช่น มุมยิงหรือมุมแทง วิเคราะห์ความสูงผู้ก่อเหตุ ในกรณีดาวเคราะห์น้อย การวิเคราะห์ซากสิ่งมีชีวิตจะทำให้ทราบตำแหน่ง ลักษณะการตก และรัศมีของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลรับมือและจัดทำแผนอพยพกรณีมีดาวเคราะห์น้อยตกลงสู่พื้นโลกในอนาคต
ที่มาข้อมูล EurekAlert, Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Pixabay