รีเซต

คลัง ยืนยันมีเงินเพียงพอจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-เงินเดือนข้าราชการ

คลัง ยืนยันมีเงินเพียงพอจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-เงินเดือนข้าราชการ
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2563 ( 17:26 )
155
คลัง ยืนยันมีเงินเพียงพอจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-เงินเดือนข้าราชการ

วันนี้ ( 12 ก.ย.63) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่ากรณีมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นการงดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเดือนกันยายน 2563 และกระทรวงการคลังจะสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างได้อีกเพียง 3 เดือนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  โดยกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าวในปีงบประมาณ2563 ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว และกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไปโดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

ส่วนกรณีเงินเดือนข้าราชการนั้น รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอแล้วตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี และขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

โดยยืนยันว่า เงินคงคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างด้วย อีกทั้งรัฐบาลยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรหรือรายได้อื่นๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และยังมีแหล่งเงินที่เพียงพอ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐและดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ขณะที่ ปัญหา NPLs ของสถาบันการเงิน ย้ำว่า  รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและได้ดำเนินการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา NPLs ของผู้ประกอบการและประชาชนโดยเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Preemptive Debt Restructuring) และรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาNPLs โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ อันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญาจะไม่เพิ่มขึ้นแต่จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายต่องวดลดลงซึ่งแตกต่างจากการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ที่ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้ในช่วงที่มีการพักชำระหนี้ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายตลอดสัญญาสูงขึ้นทั้งนี้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และรวมหนี้ ได้แก่ โครงการDR BIZ  และ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) 

ทั้งนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และป้องกันปัญหา NPLs ในระบบสถาบันการเงิน 

สำหรับประเด็นการกันสำรองของสถาบันการเงิน กรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นNPLs นั้น ในทางปฏิบัติเมื่อสถาบันการเงินมีการกันสำรองเมื่อลูกหนี้เป็นNPLs สถาบันการเงินจะเป็นผู้เก็บเงินไว้เองโดยไม่ต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวิธีดังกล่าวสถาบันการเงินดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่สามารถติดตามหนี้ได้  เป็นกลไกบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฐานะทางการเงินและกระทบต่อเงินฝากของประชาชน


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง