รีเซต

คุยแบบอินไซด์กับ ดร.ชินาวุธ หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ Startup ไทย

คุยแบบอินไซด์กับ ดร.ชินาวุธ หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ Startup ไทย
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2566 ( 13:46 )
45



เคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จจากประสบการณ์การทำงานของดร.ชินาวุธ ผู้อยู่เบื้องหลังสตาร์ตอัป (Startup) ไทย


1. การลงมือทำอย่างไม่หยุดยั้ง ต้องมีความอดทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน 

2. ความคิด (Mindset) สำคัญที่สุด เพราะงานบางอย่างอาจไม่เห็นผลในวันแรกที่ลงมือทำ ต้องอาศัยระยะเวลาในการทำอย่างต่อเนื่อง

3. ความซื่อสัตย์ (Intergrity) ก็สำคัญ ความตั้งใจลงมือทำ เพื่อขับเคลื่อนให้ไปสู่จุดหมาย

4. ความหลงใหล (Passion) ในการพยายามแก้ปัญหาบางอย่างให้กับประเทศ ซึ่งเป็น 1 ในภาพลักษณ์สำคัญของคนที่มาทำงานในบทบาทนี้

5. รู้ให้ลึก รู้ให้กว้าง เช่น หากเป็นนักสื่อสาร ต้องสื่อสารกับคนที่ทำงานเรื่องเทคโนโลยีและคนที่ทำเรื่องดีไซน์ได้เช่นกัน ประกอบกับการมีทักษะทางสังคม (Soft Skill) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคนยุคถัดไป และในปัจจุบันคนเราไม่ได้มีเพียงแค่ตัวตนเดียว แต่ยังมีตัวตนทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ซึ่งตัวตนนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งนี้การใช้ชีวิตในโลกหลายใบพร้อมกัน ซึ่งสามารถอิทธิพลต่อชีวิตจริงของเราได้ด้วย

6. ทักษะการทำงานที่หลากหลายได้พร้อมกัน (Dynamic skill set) คือการมีพลวัตในการปรับตัว และรู้จักการอยู่ในโลกต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันได้


สตาร์ตอัปคูล ๆ กว่าจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน


ที่เราเห็นว่าคนที่ทำงานสตาร์ตอัปมีชีวิตดี บางทีก็เป็นแค่สิ่งที่เขาแชร์ให้เราเห็นผ่านโลกโซเชียลเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่ทุกคนจะประความสำเร็จต้องทำงานอย่างหนัก ต้องเดินเข้าหานักลงทุน เสนองาน (Pitch) กับนักลงทุน กว่าจะได้มาเป็นเงินทุนแต่ละครั้ง ซึ่งการเสนองาน (Pitch) คือ การนำเสนอแผนธุรกิจกับนักลงทุนเพื่อให้ได้เงินทุนกลับมาทำธุรกิจ และโดยมากมักทราบอยู่แล้วว่าการไปเสนอแต่ละครั้งจะถูกปฏิเสธกว่าร้อยละ 90  ทั้งนี้การเข้าไปเสนอแผนธุรกิจกับนักลงทุนถือเป็นการแสวงหาโอกาสซึ่งมีโอกาสสำเร็จเพียง 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 100 และต้องมาพร้อมกับความพยายามอย่างสูง ซึ่งกว่าจะไปเสนอแผนธุรกิจได้หลังบ้านต้องทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง เนื่องจากธุรกิจสตาร์ตอัปเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

สตาร์ตอัป คือ ธุรกิจที่เติบโต 5-10 เท่า ภายใน 1 ปี จึงทำให้ทีมงานต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น 5-10 เท่า และจำเป็นต้องแสวงหาความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น หากมีความรู้เรื่องของธุรกิจ ทางออกของธุรกิจตนเอง อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องกฎหมาย บัญชี บริหารจัดการคน การออกสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเป็นความท้าทายหรือเป็นอุปสรรคของผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป (Startup Founder) ทั้งนั้น ดังนั้นชีวิตส่วนมากของสตาร์ตอัปจะหมดไปกับการทำงาน และในช่วงแรกอาจไม่ค่อยมีความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work life balance) 


ผู้บริหารสูงสุด (CEO) คือ ผู้ที่ทำทุกอย่าง (Cheif Everything Officer) ต้องต่อสู้กับตนเองและทำทุกอย่างไปพร้อมกัน ขณะเดียวต้องแสดงออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (Keep Cool) คือ การทำเสมือนให้ตนเองดูยังมีความหลงใหล มีพลัง แต่ความเป็นจริงแล้วข้างในเหนื่อยมาก เพื่อทำให้ลูกทีมเกิดความเชื่อมั่นว่าหัวเสือต้องพาไปสู่จุดหมายได้ ซึ่งสตาร์ตอัปในช่วงแรกอาจไม่ได้มีกำไร หรือรายได้มาก ทำด้วยใจ คนทำงานอาจไม่ได้รับเงินเท่ากับการทำงานในบริษัทใหญ่ ดังนั้นลูกทีมต้องเชื่อมั่นในตัวผู้นำว่าสามารถพาธุรกิจนี้ นำทีมไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จได้


ล้มเหลวให้เป็นฝากข้อคิดถึงสตาร์ตอัปไทย


ทักษะที่ควรมีสำหรับการบริหารทีม และบริหารสตาร์ตอัป คือ ทักษะการเป็นผู้นำ (Leader Ship) ซึ่งการเป็นผู้นำไม่เหมือนกับการเป็นเจ้านาย และการเป็นผู้บริการหรือเป็นผู้นำได้ต้องประกอบไปด้วยทักษะสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการรับฟังทีม ทักษะของการนึกถึงคนอื่น (Empathy) ซึ่งการออกแบบแนวคิดมีความสำคัญที่จะช่วยสร้างทักษะการเป็นผู้นำได้


ทักษะของความเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นทักษะที่จะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้ ซึ่งทักษะของความเป็นผู้ประกอบการ คือ 1. ต้องมีข้อมูลมากพอและเห็นโอกาสเป็น 2. ต้องรู้ว่าโอกาสไหนที่ใช้หรือไม่ใช่ 3. ไอเดียมีราคาถูก (Idea is cheap) แต่ที่แพงและยากคือการลงมือทำ (Execution is almost everything) ซึ่งก่อนจะลงมือทำได้ต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งทางเทคนิคในสาขาที่กำลังแก้ปัญหา ขณะเดียวกันต้องมีความรู้ในทางสร้างสรรค์ หรือทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Skill) เมื่อลงมือทำแล้ววัดผล จะเกิดเป็นคุณค่าขึ้นมา


ใช้ทักษะความเป็นผู้นำในการสร้างคนที่ทำงานร่วมกับเรา ให้เห็นปัญหา เมื่อเห็นแล้วต้องเป็นคนที่อยากลุกขึ้นมาแก้ปัญหาและใช้ความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหา ซึ่งทักษะอีกอย่างสำคัญมาก คือ การบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร โดยสตาร์ตอัปมักมีแนวคิกการเติบโตไปกับอะไรบางอย่าง (Growth Hack) ทรัพยากรรอบตัวเราสามารถทำให้เราเติบโตไปกับอะไรบางอย่างนั้นได้ ด้วยการมองให้รอบด้านและสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ


ต้องเป็นคนที่ตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลา ใฝ่รู้ ซึ่งการตระหนักรู้ คือ ต้องกลับมากประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา ปัญหาอย่างหนึ่งของสตาร์ตอัปไทย คือ คนไทยไม่ค่อยยอมรับความล้มเหลว ซึ่งความล้มเหลวหมายถึงธุรกิจไปต่อไม่ได้ เป็นทักษะที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่ต่างประเทศทำได้ดีกว่าคนไทยในหลายเรื่อง เช่น หากวันนี้ธุรกิจไม่สามารถเดินต่อได้ เขาก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือไปหาโอกาสอื่น หรือเอาเทคโนโลยีที่มีไปใช้ในตลาดอื่น เป็นการทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่าพยายามยึดติดกับสิ่งที่เราทำมา มองความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างแรงขับเคลื่อนระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง