นอนน้อยไป-นอนมากเกิน เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ?
ผศ.นพ.สมเกียรติ ระบุว่า เป็นเรื่องจริง มีการศึกษาพบว่า การนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงและนอนมากกว่า 9 ชั่วโมง ในช่วงกลางคืนที่นอนยาวต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตทุกสาเหตุ รวมทั้งเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอนน้อย มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยเฉพาะเรื่องการกินอาหารที่ไม่เป็นเวลา กินดึก กินแล้วไม่ย่อย ร่างกายไม่ได้นำไปใช้อย่างเหมาะสม นำไปสู่น้ำตาลในเลือดสูง บางคนนอนดึกตื่นสาย ไม่ได้กินข้าวเช้า ซึ่งเป็นมื้อที่มีความสำคัญ ส่วนมื้อที่ควรเลี่ยงคือมื้อดึกหรือก่อนเข้านอน
"พฤติกรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง"
ประกอบกับช่วงเวลานอนเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง หากช่วงระยะเวลาการซ่อมแซมน้อย หากร่างกายมีความผิดปกติหรือป่วย อาจจะทำให้เป็นมากขึ้น และเกิดการสะสม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ส่วนกรณีการนอนมากเกินไป ใช้เวลาไปกับการนอน ไม่ได้ขยับร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย บางคนนอนตื่นสาย ไม่กินข้าวเช้า ยาวไปจนถึงข้าวเที่ยงหรือเย็น แล้วมากินอาหารในมื้อดึกและนอนต่อ ก็มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ แนะ นำว่า การนอนที่เหมาะสม ควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนอกจากชั่วโมงการนอน คุณภาพการนอนก็สำคัญ โดยการนอนที่ดีควรจะหลับภายในครึ่งชั่วโมง ไม่หลับๆตื่นๆกลางดึก ไม่นอนกรน และควรเข้านอนก่อนเที่ยงคืน ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
TNN Exclusive
เขียนข่าว
เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ
ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?
ภาพจาก
ช่างภาพTNN ช่อง16