รีเซต

เช็กอาการไม่พึงประสงค์ "ผลข้างเคียงวัคซีน เข็ม 3" ก่อนฉีดกระตุ้น

เช็กอาการไม่พึงประสงค์ "ผลข้างเคียงวัคซีน เข็ม 3" ก่อนฉีดกระตุ้น
Ingonn
28 กันยายน 2564 ( 16:46 )
1.5K

หลังจากทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ประชาชนเริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้แก่ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากภูมิคุ้มกันเริ่มลดลงหลังฉีด 3-6 เดือน โดยประชาชนที่จะเข้ารับการฉีด จะได้รับการแจ้งข้อความ SMS ผ่านทางแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือลงทะเบียนที่สถานพยาบาลเดิม และเข้ารับบริการที่จุดฉีดวัคซีนกลางในแต่ละพื้นที่กำหนด เช่น ในกรุงเทพฯ ที่สถานีกลางบางซื่อ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงรวบรวม “ผลข้างเคียง วัคซีนเข็ม 3” มาฝากทุกคนที่เตรียมตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3 หรือ Booster dose ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมและรู้เท่าทันอาการก่อนฉีดวัคซีน

 

 

 

ทำความเข้าใจ “อาการไม่พึงประสงค์” ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19


องค์การอนามัยโลกแบ่งสาเหตุของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

 


1. สาเหตุจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีน เช่น อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัวในช่วง 1-2 วันแรก บางรายอาจเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นปื้นแดงหรือแพ้รุนแรงซึ่งเกิดได้น้อยมาก ผลข้างเคียงของวัคซีนมักหายไปใน 2–3 วัน

 


2. คุณภาพวัคซีนไม่ได้ตามมาตรฐาน ปัจจุบันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพการผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน และมีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนก่อนนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศ

 


3. สาเหตุจากการบริหารจัดการวัคซีน เช่น การเตรียมไม่ถูกต้อง มีการปนเปื้อน การฉีดผิดวิธี ผิดตำแหน่ง การขนส่ง การเก็บรักษาในอุณหภูมิไม่เหมาะสม

 


4. สาเหตุจากความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวลของผู้รับวัคซีน ส่งผลให้มีอาการได้หลากหลาย เช่น หายใจเร็ว เกร็ง กระตุก เป็นลม ชามือชาปาก แขนขาอ่อนแรง ซึ่งผลการตรวจไม่พบความผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับวัคซีนใหม่ที่มีการฉีดปริมาณมาก ผู้รับบริการอาจมีความกังวล

 


5. การมีอาการป่วยอื่น ๆ ที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังได้รับวัคซีน เช่น การมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองหลังได้รับวัคซีน จากการตรวจหาสาเหตุพบว่าติดเชื้อจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ไม่ใช่การได้รับวัคซีน

 

 

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุ ว่าการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นจึงมีความจำเป็น โดยการให้วัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม เช่น วัคซีนเชื้อตาย (วัคซีนซิโนแวค , วัคซีนซิโนฟาร์ม) เปรียบเสมือนให้ร่างกายรู้จักเหมือนการติดเชื้อ เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด  virus vector (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า) หรือวัคซีน mRNA (วัคซีนไฟเซอร์ , วัคซีนโมเดอร์นา) จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก  การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) มาแล้ว 2 เข็ม ทำให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก และขัดขวางสายพันธุ์เดลต้าในการทดลอง และ มีระดับภูมิต้านทาน IgA ในเลือดสูงกว่าการให้เบื้องต้นอย่างมาก

 

 

นอกจากนั้นวัคซีนเชื้อตายเข็มแรก จะถือเป็นการเริ่มต้นรองพื้นที่ดี และตามด้วยการกระตุ้นด้วย virus vector  หรือ mRNA เนื่องจากวัคซีนเชื้อตาย มีอาการข้างเคียงน้อยมาก เช่น อาการเจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เทียบกับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA ที่มีมากกว่า

 


ดังนั้นการฉีดวัคซีนไขว้ โดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)  แล้วตามด้วย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือไฟเซอร์ (Pfizer) ภูมิต้านทานจะใกล้เคียงกับ การให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ 2 เข็ม

 

 

 

เจาะ “ผลข้างเคียงวัคซีน เข็ม 3”


กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุอาการข้างเคียงวัคซีนกรณีการฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส ดังนี้


1.สูตรวัคซีน เข็มที่ 1-2 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีอาการดังนี้


- ปวดศีรษะ


- เป็นไข้


- อาเจียน


- คลื่นไส้


- ปวดกล้ามเนื้อ


- เวียนศีรษะ

 

 

2.สูตรวัคซีน เข็มที่ 1-2 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ มีอาการดังนี้


- ปวดศีรษะ


- เป็นไข้


- อาเจียน


- คลื่นไส้


- ปวดกล้ามเนื้อ


- เวียนศีรษะ


- ผื่น

 

 


อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ควรเตรียมตัวในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose) พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม 8 – 10 แก้วต่อวัน และควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการรับการฉีดวัคซีน ถ้ามีไข้หรือปวดเมื่อยมาก ให้รับประทานยาพาราเซตามอลได้ ตามขนาดน้ำหนักตัว 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (500 มิลลิกรัม/ 50 กิโลกรัม) ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ห้ามรับประทานยาจำพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด

 

 

 

ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , Yong Poovorawan

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง