รีเซต

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มอบกัญชา 400 กิโล ให้กรมการแพทย์นำไปใช้ผลิตยา

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มอบกัญชา 400 กิโล ให้กรมการแพทย์นำไปใช้ผลิตยา
ข่าวสด
14 มกราคม 2564 ( 18:40 )
304

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มอบกัญชา 400 กิโล ให้กรมการแพทย์นำไปใช้ผลิตยา โวเร่งวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย เตรียมจดทะเบียนระดับโลก

 

วันที่ 14 ม.ค. ที่โรงปลูกกัญชาอินทรีย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 สถานีตำรวจภูธรสันทราย และ สภ.แม่โจ้

 

ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีส่งมอบดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 400 กิโลกรัม ตามโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์แบบครบวงจร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ไม่มีสารเคมี และสารปรุงแต่งใด ๆ

 

ทั้งนี้ดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 400 กิโลกรัมดังกล่าวนี้ เป็นการส่งมอบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้กรมการแพทย์ โดยนำส่งไปให้ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการผลิตเป็นยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 400 กิโลกรัม ที่ส่งมอบให้กรมการแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ เป็นผลผลิตจากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40,000 บาท

 

โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งมอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม 22 กิโลกรัม มหาวิทยาลัยขอนแก่น 50 กิโลกรัม และ มหาวิทยาลัยนเรศวร 69 กิโลกรัม ขณะที่ครั้งต่อไปเตรียมส่งมอบให้กับโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีอีกประมาณ 100 กิโลกรัม

 

ที่ทั้งนี้ผ่านมามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งกำลังปลูกกัญชาตามโครงการนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีสาร THC และCBD ในทิศทางที่ทางการแพทย์ต้องการ พร้อมทั้งพัฒนาให้ได้สายพันธุ์กัญชาไทยเพื่อจดทะเบียนสายพันธุ์ในระดับสากลและก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการทวงคืนสายพันธุ์กัญชาไทย เพราะในอดีตสายพันธุ์กัญชาไทยเคยได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก แต่กลับถูกต่างชาตินำไปจดทะเบียนและใช้ประโยชน์ โดยน่าจะประสบผลสำเร็จในเร็วนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง