โรงพยาบาลจิตเวชพบผู้ป่วยจาก ‘กัญชา’ เพิ่มต่อเนื่อง
วันนี้ ( 24 ก.ย. 65 )แพทย์หญิงมันฑนา กิตติพีรชล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ว่า โรงพยาบาลนอกจากจะรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต และจิตเวชเป็นหลักแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดมารักษา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เสพยาบ้า หรือแอมเฟตามีน โดยในช่วงที่ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น หรือผู้ป่วยจิตเวชโดยตรงที่อาการสงบเมื่อไปใช้สารเสพติด ทำให้ห้กระตุ้นอาการทางจิต กำเริบขึ้น
แพทย์หญิงมันฑนา ยังยอมรับว่า พบผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเข้ารับการรักษาในสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปี 2565 ซึ่งเก็บข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม เพียง 8 เดือน พบผู้ป่วยแล้ว 103 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 87 คน รักษา 339 ครั้ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยเดิมที่เข้ารับการรักษาซ้ำจากการกลับไปใช้กัญชา และผู้ป่วยใน 16 คน รักษา 19 ครั้ง แตกต่างจากปี 2564 ที่เก็บข้อมูลทั้งปี พบผู้ป่วย 122 คน ซึ่งเชื่อว่า ปีนี้แนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก
โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์ นำไปใช้เชิงสันทนาการ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางจิตจากกัญชาโดยตรง ทำให้ประสาทหลอน หูแว่ว มีปัญหาทางอารมณ์
ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่อาการกำเริบเพราะกัญชา ขณะที่การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากกัญชา หากมีปัญหาทางอารมณ์หรือมีโรคทางจิตเดิม ก็จะรักษาอาการโรคก่อน พร้อมทั้งใช้จิตบำบัด หรือ จิตสังคมบำบัด ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆเลิกกัญชา เหมือนกับการรักษาผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เน้นย้ำผู้ป่วยทางจิตเวช เช่นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรคจิตจากสารเสพติด และโรคจิตเภท รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคตับ,โรคไต ที่มีอาการรุนแรง และมีการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดรวมถึงหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง ไม่เหมาะกับการใช้กัญชา เพราะจะส่งผลกระทบต่ออาการของผู้ป่วยระยะยาว
ภาพจาก : AFP