คนไทยจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน 'ธนาคารโลก' ชี้ 'แรงงาน' เปราะบาง ต้องเพิ่มทักษะ
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ลดลง หลายคนมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลได้ดำเนินการค่อนข้างดีในการออกมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรที่เข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจนที่ 5.5 เหรียญสหรัฐต่อวัน
“ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีการพึ่งหานักท่องเที่ยวต่างประเทศ ถึง 13-17% ของจีดีพี แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะโตขึ้น 4% และในปี 2565 จะโตขึ้น 4.7% อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ ส่วนปัจจัยบวกคือการได้รับวัคซีนที่เร็วกว่าที่คาด และการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพสูง” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
นายแฮรี่ เอ็ดมันด์ โมโรซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนวัยรุ่น จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงทำให้รายได้ต่อเดือนน้อยลง จำนวนชั่วโมงการทำงานยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมา และการจ้างงานในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า นั้นหมายความว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19
นายแฮรี่ กล่าวว่า ในระยะสั้นรัฐบาลต้องจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะของแรงงาน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพยายามทำอย่างต่อเนื่องคือการทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง
ในระยะยาวรัฐบาลสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการดูแล ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงานผู้หญิง รายงานนี้ยังแนะนำให้ขยายอายุเกษียณออกไป และให้วางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน และให้มีการจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย