รีเซต

อากาศร้อนจัดทั่วไทย กรมอุตุฯ เตือนภัยฮีตสโตรก!

อากาศร้อนจัดทั่วไทย กรมอุตุฯ เตือนภัยฮีตสโตรก!
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2568 ( 09:41 )
6

เฝ้าระวัง วันที่ 22 เมษายน 2568 นี้รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนภัยประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ให้ระมัดระวังภาวะฮีตสโตรก อันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันข้างหน้านี้

รายงานของ TNN Tech สัมภาสณ์กรมอุตุนิยมวิทยาผ่านสายด่วน 1182 พบว่า สภาพอากาศในวันนี้หลายพื้นที่จะมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยไม่มีรายงานการเกิดฝนในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเฝ้าระวังคือแนวโน้มอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจสูงขึ้นถึง 41-42 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สถานการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ประชาชนเกิดภาวะ อ่อนเพลียจากความร้อน (Heat exhaustion) และพัฒนาไปสู่ภาวะ ฮีตสโตรก (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยทั่วไปแล้ว ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อนมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน หากสามารถลดอุณหภูมิร่างกายได้ภายใน 30 นาที แต่หากปล่อยไว้จนกลายเป็นฮีตสโตรก จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที

โดยที่บ่งบอกสัญญาณของภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat exhaustion) มี อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมากผิดปกติ ผิวหนังซีดเย็น อาจมีผื่นแดงจากความร้อน ตะคริวบริเวณแขน ขา และหน้าท้อง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กระหายน้ำมาก และอ่อนแรง 

ซึ่งอาการของภาวะอ่อนเพลียจากความร้อนมักคล้ายคลึงกันในผู้ใหญ่และเด็ก แต่เด็กอาจมีอาการหงุดหงิดร่วมด้วย หากพบผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรรีบลดอุณหภูมิร่างกายและให้ดื่มน้ำ

แนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน

หากพบผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน ให้ปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนดังนี้:

1. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่ร่ม หรือที่เย็นกว่า

2. ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก เช่น เสื้อคลุม หรือ ถุงเท้า

3. ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือน้ำเย็น

4. ลดอุณหภูมิร่างกาย โดยการพรมน้ำเย็น หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้พัดลมช่วยระบายความร้อน อาจใช้แผ่นเย็นประคบบริเวณรักแร้ หรือคอ 

ทั้งนี้ควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยทั่วไปอาการควรจะดีขึ้นภายใน 30 นาที

การป้องกันภาวะฮีตสโตรก

1. ควรดื่มน้ำเย็นให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกาย

2. สวมเสื้อผ้าสีอ่อน และระบายอากาศได้ดี

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงในช่วงเวลา 11:00 น. ถึง 15:00 น.

4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป

6. หากอยู่ในอาคารในช่วงวันที่อากาศร้อนจัด ควรปิดผ้าม่าน ปิดหน้าต่างหากอุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายใน และปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความร้อน

การปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้จะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายรักษาอุณหภูมิให้คงที่

นวัตกรรมที่สามารถช่วยเตรียมตัวและรับมือกับสถานการณ์ความร้อน

นอกจากการป้องกันและดูแลตัวเองดังกล่าวแล้ว TNN Tech ขอแนะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ความร้อนได้ โดยการดาวน์โหลดและติดตามแอปพลิเคชั่น ที่ได้รับการรับรองจากกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น

- TMD พยากรณ์: รายงานสภาพอากาศของประเทศไทย สภาพอากาศปัจจุบัน, พยากรณ์อากาศ, รายงานแผ่นดินไหว, เรดาร์สภาพ อากาศ, ภาพถ่ายดาวเทียม, แผนที่อากาศและการรายงานสภาพ

-  Thai Weather: รายงานสภาพอากาศของประเทศไทย สภาพอากาศปัจจุบัน, พยากรณ์อากาศ, เส้นทางพายุ, รายงานแผ่นดินไหว, เตือนภัยสภาพอากาศ, เรดาร์สภาพอากาศ, ภาพถ่ายดาวเทียม, แผนที่อากาศ และการรายงานสภาพอากาศด้วยรูปถ่ายโดยตัวคุณเอง

- Thai Weather Radio: แอปพลิเคชันฟังวิทยุออนไลน์สำหรับสมาร์ทโฟน รับฟังรายการวิทยุทั้งหมดของ สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยา ฟังข่าว ฟังเพลง และรายงานสภาพภูมิอากาศทั่วไทย ด้วยคุณภาพเสียงคมชัดทุกสถานี ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวของข่าวสาร

นอกจากนี้บางบ้านเรือนหรืออาคารต่าง ๆ ยังสามารถพิจารณาการติดแผงฉนวนกัยความร้อน เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หรือพกพาสเปรย์เพิ่มความเย็น เพื่อฉีดตามลำตัวให้รู้สึกสดชื่น หรือการพกพาอุปกรณ์พัดลมมือถือคลายร้อน ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กพกพาง่าย เพื่อเป็นการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้อีกด้วย

กรมอุตุนิยมวิทยาจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว เฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากภาวะฮีตสโตรก และสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากพบอาการที่สงสัยว่าเป็นฮีตสโตรก ควรรีบเข้าที่ร่มและขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ และสายด่วน 1182 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง