5 อาการ ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคต่าง ๆ ในช่วง"สงกรานต์"

เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยกันแล้ว “ฝนก็ตก แดดก็ออก” ไปพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว เรียกได้ว่า อากาศแปรปรวนจนน่ากังวลว่าจะดูแลสุขภาพอย่างไร ให้แข็งแรงสู้แดดสู้ฝนได้ เทศกาลสงกรานต์กับวันหยุดยาวที่จะมาถึงนี้ อยู่ในช่วงที่อากาศร้อนถึงร้อนมากที่สุด อาจทำให้เกิดความไม่สบายเนื้อสบายตัวได้มาก
5 อาการที่ควรเฝ้าระวังโรคมีดังนี้
1. อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย พิษของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในอากาศร้อนเช่นนี้ อาหารต่าง ๆ ถึงแม้จะทำสดใหม่ ทำอุ่นร้อน หรือเก็บถนอมอาหารอย่างดี ก็ยังมีโอกาสบูด เสียไว และปนเปื้อนได้ง่าย
อาการที่พบได้บ่อย คือเริ่มต้นจากคลื่นไส้ อาเจียนร่วมกับอาการปวดท้อง ปวดจุกเสียด บิดเกร็ง อาจมีถ่ายเหลว ท้องเสีย ร่วมด้วยได้
การดูแลป้องกัน ดื่มน้ำสะอาดที่อยู่ในภาชนะปิด รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกทันที หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนหรือมีการเก็บถนอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ก่อนการปรุงอาหาร ก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรแยกวัตถุ ดิบและสุกออกจากกัน เพื่อกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ร่วมกับการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน หากเริ่มมีอาการผิดปกติของอาการอาหารเป็นพิษ ควรรับประทานน้ำเกลือแร่เพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกาย
2. โรคอุจจาระร่วง เกิดจากติดเชื้อโรคในกลุ่มทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะปนเปื้อนมากับอาหารเครื่องดื่ม ปนเปื้อนมากับสิ่งแวดล้อม ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่สัมผัสเข้าปากตรง ๆ พบได้ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย สารปนเปื้อนต่าง ๆ
อาการที่พบได้บ่อย คือ ไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ร่วมกับถ่ายเหลวท้องเสีย มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน มักเป็นการถ่ายที่ผิดปกติได้ ตั้งแต่ถ่ายเหลวเป็นเนื้อเละ ๆ ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายปนมูกปนเลือด ปวดท้องบีบเกร็ง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และอาการกระหายน้ำจะมากกว่าปกติ เนื่องจากภาวะการสูญเสียน้ำร่วมกับปัสสาวะได้ลดลง
การดูแลป้องกันที่ดีที่สุด คือการรักษาสุขอนามัยตั้งแต่ขั้นตอนการปรุงอาหาร รับประทานอาหาร และการเก็บอาหาร การติดต่อสู่กันเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วมาก จากการกินอาหารร่วมกัน หรือปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากการอาเจียน การขับถ่าย โดยเฉพาะการใช้ภาชนะ จาน ช้อน แก้วน้ำ หรือการใช้ห้องน้ำร่วมกันกับผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคที่มีอาการอยู่
การดูแลตนเองเบื้องต้น คือการแก้ไขภาวะขาดน้ำโดยการดื่มน้ำเกลือแร่ ORS การกินยาแก้ท้องเสีย ร่วมกับประคับประคองอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนและลดไข้ หากมีการสูญเสียน้ำมากเกินไป จนเกิดอาการเพลีย ซึม กระสับกระส่าย ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ควรได้รับสารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ
3. โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก เป็นสภาวะของร่างกายที่สัมผัสกับความร้อนที่สูงเกินกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายมาก คือร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่เราอยู่ในสถานที่อุณหภูมิร้อนมาก อบอ้าว ไม่ระบายอากาศ มีการออกกำลังกายอย่างหนัก สวมเสื้อผ้าหนาที่ไม่ระบายอากาศ ทำให้ร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวเพื่อลดอุณหภูมิได้ทัน ส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด จนเกิดอันตราย อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้
อาการที่พบได้บ่อย คือตัวร้อนขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการระบบประสาทจะกระสับกระส่าย พูดไม่รู้เรื่องสับสน เพ้อ ชัก หมดสติ อาการระบบหัวใจหลอดเลือด จะหน้าแดง ผิวตามตัวแดง แต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจเร็ว ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับ ปวดศีรษะ สัญญาณชีพผิดปกติ
การดูแลป้องกัน การปฐมพยาบาลทำได้โดย รีบพาผู้มีอาการหลบแดด ย้ายอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าที่หนาอบออก ทำให้ร่างกายเย็นลงให้ไวที่สุด เช่น รดตัว เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เป่าพัดลมที่มีไอน้ำ เปิดแอร์ ให้ดื่มน้ำ น้ำเกลือแร่ให้มาก ๆ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงอากาศร้อน ร้อนมาก ๆ ไม่ควรอยู่ในรถ หรือยานพาหนะที่ตากแดดนาน ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายช่วงเวลากลางวัน ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีเหมาะกับสภาพอากาศ
4. ผดร้อน ผื่นผิวหนังอักเสบ การสัมผัสโดดแดดจ้า รังสี UV ไม่ว่าจะทางตรง ทางอ้อม ย่อมทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อรูขุมขน ผิวหนังชั้นกำพร้า ไปจนถึงการลดลงของระดับน้ำในชั้นใต้ผิวหนัง ดังนั้นการเกิดผดร้อนจึงเกิดได้บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าเป็นของคู่กันกับหน้าร้อนเลยทีเดียว ผดร้อน เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ต่อมเหงื่อ จากอากาศร้อนแดด ร้อนอบอ้าว ภายหลังการออกกำลังกาย การอาศัยในที่ระบายอากาศไม่ดี การใส่เสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ กักเก็บเหงื่อ รวมถึงการใช้โลชั่นหรือครีมที่หนาหนัก ทำให้เกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นเม็ดตุ่ม ๆ สีแดง คล้ายการอุดตัน ร่วมกันมีอาการคัน ไปจนถึงแสบร้อนได้ พบบ่อยบริเวณลำตัว แขนขา หรือ บริเวณอับชื้น อาจพัฒนาจนกลายเป็นผื่นผิวหนังที่อักเสบเรื้อรังได้
การดูแลป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อน อบอ้าว ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเท เย็นสบายในวันที่อากาศร้อนมาก ร่วมกับใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ ผ้าเนื้อบาง แห้งไว ระบายอากาศดี เช่น ผ้าฝ้าย cotton การอาบน้ำเย็นนั้น นอกจากจะช่วยคลายร้อน เพิ่มการฟอกสบู่ ทาโลชั่นเนื้อบางเบา จะช่วงลดอาการตึงผิว ผิวแห้งได้ดียิ่งขึ้น
5. เลือดกำเดาไหล โพรงจมูกอักเสบ นอกจากการโดนแรงกระแทกบริเวณใบหน้า ดั้งจมูกตรง ๆ การแคะแกะเกาภายในโพรงจมูกจนเกิดบาดแผล รอยถลอก เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยบริเวณโพรงจมูกแล้ว การอักเสบติดเชื้อภายในโพรงจมูก โพรงจมูกแห้งระคายเคืองจากอากาศร้อน หรือ การมีน้ำมูกไหลเรื้อรังจากภาวะภูมิแพ้นั้น สามารถทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกเกิดเลือดออกได้มากเฉียบพลัน จนกลายเป็นเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
การดูแลป้องกันเลือดกำเดาไหลนั้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยง่าย เพียงซับเลือดและห้ามเลือด โดยหลังตรง โน้มตัวมาด้านหน้า พร้อมกับการบีบปีกจมูกทั้งข้างให้แน่น นานประมาณ 5 นาที หรือจนกว่าเลือดจะหยุด ขณะนั้นหายใจทางปากแทน การประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง ช่วยให้การห้ามเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเลือดกำเดาที่ไหลเกิดจากอุบัติเหตุกระแทกรุนแรง หรือไหลเกินกว่า 20 นาที หรือมีอาการหน้ามืดวิงเวียน ชีพจรเต้นไวผิดปกติ จากการเสียเลือด ควรรีบพบแพทย์ทันที
กรณีหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507