รีเซต

รู้ก่อนพายุมา! เครื่องมือช่วยติดตามพายุจากทั่วโลก

รู้ก่อนพายุมา! เครื่องมือช่วยติดตามพายุจากทั่วโลก
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2568 ( 12:59 )
12

ตามรายงานของสำนักข่าวอัลจาเซียร่า (Al Jazeera) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2025 ที่ผ่านมา พายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา” (Wipha) ได้เคลื่อนตัวเข้าถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน รวมถึงฮ่องกง ส่งผลให้มีการยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต้องเผชิญกับลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก ในยุคที่ภัยพิบัติจากสภาพอากาศมีแนวโน้มถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นทำให้เราได้ตระหนักถึงการเตรียมตัวรับมือ เทคโนโลยีการติดตามพายุได้กลายเป็นอาวุธสำคัญในการรับมือและลดผลกระทบ ซึ่งมีหลายแพลตฟอร์มที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้เข้าถึงข้อมูลพายุแบบเรียลไทม์ได้ทันที

ปัจจุบันมีเครื่องมือดิจิทัลจำนวนมากที่ช่วยให้สามารถติดตามพายุได้แบบเรียลไทม์ผ่านภาพดาวเทียม ข้อมูลเรดาร์ และแบบจำลองพยากรณ์ล่วงหน้า เพื่อรับมือกับวาตภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ TNN Tech ได้รวบรวม 6 เว็บไซต์ติดตามพายุที่น่าสนใจมานำเสนอ

1. Windy.com

แพลตฟอร์มแผนที่เชิงโต้ตอบ (Interactive map) ที่รวมชั้นข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาหลายรูปแบบ เช่น ความเร็วลม ทิศทางลม ความกดอากาศ ปริมาณฝน และอุณหภูมิ สามารถปรับมุมมองเพื่อดูการเคลื่อนที่ของพายุในเวลาเกือบเรียลไทม์ เหมาะสำหรับผู้ใช้ทั่วไป นักเดินทาง และนักพยากรณ์อากาศ


2. NOAA Hurricane Tracker

ระบบติดตามพายุจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ที่เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง รวมถึงข้อมูลพายุหมุนเขตร้อนทั่วโลก เหมาะสำหรับนักวิจัย หน่วยงานเตือนภัย และสื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกที่น่าเชื่อถือ


3. Cyclocane.com 

เว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนทั่วโลกในปัจจุบัน พร้อมแผนที่เส้นทางพายุโดยใช้แบบจำลองหลากหลาย รวมถึงข้อมูลย้อนหลังของพายุที่เกิดขึ้นแล้ว เหมาะสำหรับการติดตามสถานการณ์พายุแบบภาพรวม


4. กรมอุตุนิยมวิทยาไทย (ภาพดาวเทียม)

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบเรียลไทม์ ผู้ใช้สามารถดูการก่อตัวของกลุ่มเมฆ ความเข้มข้น และเส้นทางพายุที่เข้าใกล้ประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

ลิงก์ http://www.sattmet.tmd.go.th/satmet/mergesat.html


5. Google Maps (มุมมองดาวเทียมบริเวณอินโดจีน)

แพลตฟอร์ม Google Maps แม้จะไม่ใช่แพลตฟอร์มเฉพาะด้านพายุโดยตรง แต่มุมมองดาวเทียมจาก Google Maps มีประโยชน์ในการประเมินสภาพภูมิประเทศ เช่น ความสูงของพื้นที่ ความเสี่ยงจากน้ำหลาก รวมถึงตำแหน่งเมืองหรือหมู่บ้านที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้ามา


6. Zoom Earth ติดตามพายุแบบเรียลไทม์

เครื่องมือแผนที่แบบเรียลไทม์ที่แสดงภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์พายุแบบต่อเนื่อง มีฟีเจอร์การติดตามพายุเฉพาะตัว เช่น แสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ ความเร็วลม และตำแหน่งล่าสุดของพายุ เหมาะสำหรับการติดตามพายุ “วิภา” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เคลื่อนเข้าสู่จีนและฮ่องกง


ทำไมเทคโนโลยีเหล่านี้สำคัญ?

ข้อมูลจากแหล่งเหล่านี้ อาจช่วยให้ประชาชน นักวิจัย และหน่วยงานด้านภัยพิบัติสามารถประเมินเส้นทางและความรุนแรงของพายุได้ล่วงหน้า สามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม หยุดงาน หรืออพยพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเก็บข้อมูลย้อนหลังเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต

พายุ “วิภา” เป็นสัญญาณของอะไร?

จากข้อมูลที่รวบรวมได้จากเว็บไซต์ข้างต้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุวิภาทำให้เรามองเห็นภาพว่าพายุวิภาอาจเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่า พายุวิภานับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พายุมาเร็วกว่าปกติ หรือรุนแรงแม้ในฤดูกาลที่ไม่ใช่จุดสูงสุด การเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนักพยากรณ์อากาศอีกต่อไป แต่คือเครื่องมือเอาตัวรอดในยุคที่ ธรรมชาติไม่ธรรมดาอีกต่อไป และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ที่มาของภาพwww.windy.com

ปัจจุบัน วันที่ 22 กรกฏาคม 2025 สถานการณ์พายุวิภาในไทย ตามการรายงานของเว็บไซต์ www.windy.com ระบุว่า พบว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้ามาด้วยความเร็วประมาณ 21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยลมลักษณะนี้นำความชื้นจากทะเลเข้าสู่แผ่นดิน ส่งผลให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันตกและภาคใต้ ขณะเดียวกันบริเวณตอนบนของเวียดนามและลาวตอนกลางมีศูนย์กลางพายุกำลังแรงก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นดีเปรสชันหรือพายุโซนร้อนที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่ง การที่พายุเคลื่อนเข้าพื้นที่ภูเขาอาจทำให้พายุอ่อนกำลังลง แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือ ที่อาจเผชิญกับฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ในช่วง 1-2 วันนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง